วันที่ 12 ต.ค. 67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) นำความตามพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 ไปทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ต่อจากคำร้องฉบับลงวันที่ 8 คุลาคม 2567 ว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
รวมทั้งตรวจสอบเพิ่มเติมประเด็นใหม่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ที่อาจมาจากให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ถูกต้องครบถ้วนและบิดเบือน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 หรือไม่ โดยมีความในหนังสือแยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
ข้อ 1. ตามที่ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 เพื่อขอให้ กกต. รีบทำการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ และหากตรวจสอบแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล ขอให้ กกต. รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว ตามความในมาตรา 170 วรรคสาม พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามความในมาตรา 82 วรรคสอง ด้วย ดังความควรแจ้งแล้วนั้น
ข้อ 2. ต่อกรณีดังกล่าว IG ของโพสต์ทูเดย์ ลงข่าวและคลิปเสียง หัวข้อข่าว “ภูมิธรรม” มั่นใจ “นายกฯ” ตั้ง “เต้น” ไม่ซ้ำรอย “เศรษฐา” นั้น
ข้อ 3. เนื่องจากคำสั่งทั้งสองดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 พิพากษาเกี่ยวการที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (6) ไว้แล้ว จึงขอคัดคำพิพากษาบางส่วนมาให้ กกต. นำไปประกอบการตรวจสอบต่อไป ดังนี้
“... ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติมาตรา 201 และมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็น 3 ส่วน ได้ แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีอำนาจกำกับโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่นชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบายส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงต่าง ๆ มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ แต่มีข้อจำกัดว่าอำนาจดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11 กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการขัดหรือแย้งหรือลดทอนอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้บทบัญญัติมาตรา 217 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในการให้รัฐมนตรีผู้ใดพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี จึงแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีขอบเขตอย่างกว้างขวาง มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งในทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวง ต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงและทบวงนั้น ๆ โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับ ดูแล ตามลำดับผ่านรัฐมนตรี ...”
ข้อ 4. กรณี ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาตรวจสอบกับการแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายที่จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน เช่นกัน ดังนั้น กกต. จึงควรทำการตรวจสอบต่อไป
ข้อ 5. อนึ่ง กรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เมื่อกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) คือไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 อีกด้วย กล่าวคือ “ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ถูกต้องครบถ้วนและบิดเบือน” ซึ่งเห็นได้จากการให้ข่าวว่า “เงินบาทแข็งดีต่อการส่งออก” หรือการให้ข่าวว่า “แม่น้ำปิงไหลลงแม่น้ำโขง” ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าว อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 ตามมาได้ เพราะคนที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี จะมากล่าวอ้างแก้ตัวขอความเห็นใจว่า ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์หรือภูมิศาสตร์พื้นฐานดังกล่าว คงมิอาจรับฟังได้
ข้อ 6. ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ตรวจสอบต่อไปว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบเพิ่มเติมประเด็นใหม่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ที่อาจมาจากให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ถูกต้องครบถ้วนและบิดเบือน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 หรือไม่