อธิบดีกรมประมงพูดถึงการจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพและนำปลาที่ได้ไปใช้ประโยชน์ โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาด้วย อาทิ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ฯลฯ ซึ่งทำให้สถานการณ์การระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยวิกฤติเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ กล่าวได้ว่า การดำเนินมาตรการทั้ง 7 ข้อ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำสามารถดำเนินการต่อเนื่องมาจนกระทั่งมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังต้องดำเนินมาตรการเหล่านี้ต่อเนื่องต่อไป ไม่เช่นนั้นปลาหมอคางดำอาจกลับมาแพร่กระจายอีกครั้ง
การทำงานหน้างานย่อมมองเห็นจุดแข็ง-จุดอ่อนของแต่ละมาตรการ เช่นที่หลายฝ่ายเกิดข้อกังวลว่า เมื่อรัฐจูงใจให้เกิดการจับปลา โดยให้ราคาปลาชนิดนี้ค่อนข้างสูง อาจมีเกษตรกรบางรายหัวหมอทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อนำมาวนจำหน่ายผ่านโครงการรัฐได้ ซึ่งใม่เพียงเป็นการผิดกฎหมายยังทำให้การกำจัดปลาหมอคางดำไม่มีทางสำเร็จด้วย ข้อกังวลนี้ทำให้กรมประมงจัดตั้ง “ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างรุนแรง และจะดำเนินคดีทันทีหากตรวจพบ แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบผู้กระทำผิดแม้แต่รายเดียว แต่รัฐก็ยังคงต้องสอดส่องและตรวจสอบเป็นระยะๆ ต่อไปอย่างทั่วถึง
อีกประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ พื้นที่บ่อร้างของชาวบ้านที่ยังมีเป็นจำนวนมาก บ่อเหล่านี้มักจะเป็นน้ำนิ่ง เอื้อต่อการเพาะและขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลที่ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปจับปลาได้ จึงทำให้ยังคงมีปลาตกค้างในบ่อเหล่านี้อีกไม่น้อย รัฐควรหาวิธีปรับแก้หรือออกกฎหมายเฉพาะ (ที่สอดรับกับการตรวจตราบ่อต่างๆไม่ให้มีการเลี้ยง) ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจัดการปลาตามบ่อร้างเหล่านี้ได้ด้วยโดยไม่ผิดกฎหมาย คล้ายๆกับที่กรมแก้กฎหมายอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นการเฉพาะกิจ
ขณะที่ความพยายามจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีผลลัพธ์ที่ดีแล้ว แต่หากยังมีแหล่งที่ปลาสามารถวางไข่ เพาะพันธุ์และเติบโตได้ ย่อมทำให้โอกาสแพร่กระจายเกิดขึ้นอีกได้ นอกเหนือจากบ่อร้างที่กล่าวข้างต้น วิธีการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมก็มีผลต่อแนวทางกำจัดปลาหมอคางดำเช่นเดียวกัน เกษตรกรหรือชาวบ้านริมคลองที่ใช้วิธีเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาแบบเปิดน้ำเข้า-ปล่อยน้ำออกจากบ่อ จะทำให้มีปลาหมอคางดำกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้เสมอ นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่กรมประมงต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนโดยด่วน
ทางที่ดีควรจะส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิด ไม่ปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก และมีการใช้กากชาเพื่อกำจัดปลาในบ่อเพาะเลี้ยงตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะมีปลาหมอคางดำออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นไปได้ การให้ความรู้แก่เกษตรกรจึงเป็นอีกเรื่องที่ละเลยไม่ได้
วันนี้ประมงจังหวัดหลายแห่งยืนยันตรงกันว่าปริมาณปลาหมอคางดำลดน้อยลงมากแล้ว และทุกพื้นที่ก็ย้ำว่าจะต้องดำเนินการมาตรการต่างๆ ต่อไป ซึ่งรัฐบาลควรรับทราบและเตรียมงบประมาณให้พร้อมเพื่อไม่ให้การกำจัดปลาจำนวนมากที่ผ่านมาต้องสูญเปล่า คงต้องขอส่งกำลังใจให้กรมประมง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่มีความพยายามอย่างจริงใจในการร่วมกันแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ให้คลี่คลาย เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว เพียงเก็บตกอุปสรรคขวากหนามระหว่างทางอีกนิดเดียว เชื่อว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการกำจัดและควบคุมประชากรปลาหมอคางดำนี้ได้สำเร็จในอีกไม่นาน
โดย : วงษ์อร อร่ามกูล