พาดูขั้นตอนการทำว่าวจุฬา 9 ศอก ใหญ่ที่สุดในโลก ติดลายดอกเบญจรงค์ 5 สี กว่า 10,000 หมื่นดอก เตรียมจัดงานเทศกาล “ เล่นว่าว กินข้าวหนำกัน ” ของชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กลางเดือน พ.ย. นี้
วันที่ 11 ต.ค. 67 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมกับวัดพระศรีอารย์ และผู้นำชุมชน ได้ประชุมเตรียมพร้อมจัดงานเทศกาล ที่ชื่อว่า “ เล่นว่าว กินข้าวหนำกัน ” ของชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ระหว่างวันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2567 ที่บริเวณลานหน้าวัดพระศรีอาร์ อ.โพธาราม ซึ่งทางชมรมวัดพระศรีอารย์ ได้จัดทำว่าวจุฬา 9 ศอก เป็นว่าวจุฬาไทยโบราณใหญ่ที่สุดในประเทศ และใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมติดลายดอกเบญจรงค์ 5 สี บนตัวว่าวกว่า 10,000 หมื่นดอกอย่างสวยงาม การทำว่าวจุฬาตัวนี้มีความยากมาก ต้องอาศัยความชำนาญ และความเชี่ยวชาญในการเลือกไม้ไผ่สีสุก เป็นไม้ที่มีเนื้อหนา แข็งแกร่ง ลำต้นมีอายุพอเหมาะในการนำมาเหลาให้มีความเลื่อม ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าที่จะนำมาขึ้นโครงว่าวจุฬาได้ตามรูปทรงที่ได้ขนาด และยังต้องมีการสักเชือก การตอกลายดอกแต่ละสี และการนำกระดาษมาติดบนตัวว่าว ติดลายดอกแต่ละชั้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความอดทนมีสมาธิ และความประณีต
นายบุญรอด นาคศิธร ผู้เชี่ยวชาญการทำว่าวจุฬาจากจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เป็นผู้ริเริ่มทำว่าวจุฬาโบราณ ที่มีความใหญ่เป็นตัวแรกของประเทศ เคยนำว่าวตัวใหญ่แบบนี้ไปเล่นที่ลานหน้าวัดพระศรีอารย์ จ.ราชบุรีมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มาปีนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมกับวัดพระศรีอารย์ มีแนวคิดนำว่าวตัวใหญ่นี้ มาซ่อมแซมให้กลับมามีความสวยงามเป็นสีสันไฮไลท์ของการจัดงาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ตื่นตาตื่นใจ มาชมความยิ่งใหญ่ และความอลังการของงานว่าวไทย ที่ได้จัดขึ้นเป็นปีแรกด้วย
นายบุญรอด นาคศิธร ผู้เชี่ยวชาญการทำว่าวจุฬา กล่าวว่า ว่าวนี้เรียกว่าว่าวจุฬา ความยาวของอก 4.50 เมตร เรียกว่า 9 ศอก ความใหญ่ถ้ายาวตลอดขาเป็นว่าว 6 เมตรก็คือ 3 วา ตั้งแต่หัวจรดปลายขาว่าว ตัวนี้ใหญ่ที่สุดสามารถปล่อยลอยขึ้นบนฟ้าได้ เป็นประวัติศาสตร์ของว่าวจุฬาไทย ที่นำขึ้นบนท้องฟ้าที่วัดพระศรีอารย์มาแล้ว ส่วนปีนี้จะเอาว่าวตัวนี้ นำไปโชว์ในงานว่าวลาวเวียง เป็นว่าว 9 ศอก นำไปเป็นไฮไลท์ของการจัดงาน ซึ่งถ้าทำใหม่ทั้งตัวน่าจะอยู่ประมาณ 1 เดือน แต่ตัวนี้ที่เคยทำไว้อยู่ที่วัดพระศรีอารย์ ทำประมาร 14 วัน ตั้งแต่เริ่มลงมือดัดไม้ เหลาไม้ เป็นไม้ไผ่สีสุก ที่มีความเหนียวของไม้ มีการติดดอกเป็นลายเบญจรงค์ 5 ชั้น 5 สี ทั้งตัวว่าว ใช้ดอกติดประมาณกว่า 10,000 ดอก โดยนางปริญญา นุชศิริ ได้ตอกลายในกระดาษสีแล้วนำมาติดบนตัวว่าว ซึ่งมีความยากในการทำ และมีความสวยงามหลังทำเสร็จแล้ว อยากให้มาชมดูว่าวตัวนี้ ในงานว่าวชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่เตรียมจัดในเดือน พ.ย. นี้
ส่วนขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก จะอยู่ที่การเหลาไม้ การเพาะไม้ ไม้อกจะเพาะ 3 ต่อ เพาะ 2 ชั้น แล้วจึงมาเหลาให้เป็นไม้โครงเพื่อมาทำอกว่าวอันเดียว ใช้เวลาเหลาไม้อกประมาณ 3 วัน ส่วนปีกกับขาเป็นไม้ของเก่าที่ซ่อม ต่อปลายปีก ต่อปลายขาที่ชำรุด นำมาดัดไม้ให้ตรง แล้วมาผูกวงใหม่ ก็เหมือนกับว่าวที่ทำใหม่ที่จะต้องรื้อสักเชือกใหม่ เฉพาะสักเชือกของว่าว 9 ศอก จะต้องใช้ความอดทนเพราะต้องเดินรอยว่าวอยู่ทั้งวันประมาณ 8 ชม. ต่อวัน ในการเดินสักเชือกรอบตัวว่าว
สำหรับว่าวเบญจรงค์ เป็นว่าวที่ติดดอกลายสวยงาม เรียกว่าเบญจรงค์ เพราะในตัวว่าวจะเป็นลายดอก 5 สี 5 ชั้น ต่อ 1 ดอก ว่าวตัวนี้จะใช้การติดดอกจำนวนมาก วันนั้นจะได้เห็นว่าวจุฬาลายเบญจรงค์ตัวแรกที่ใหญ่ที่สุดอยู่วัดพระศรีอารย์ จ.ราชบุรี ในประเทศไทยมีตนเองที่ทำว่าวแบบนี้มา 3 ตัวแล้ว โดยนำไปอยู่ที่วัดพระศรีอารย์ แล้วนำกลับมาซ่อมใหม่คือตัวนี้ถือเป็นตัวที่ 2 แล้ว ส่วนอีกตัวอยู่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งและเปื่อยพังไปตามเวลา การเล่นว่าวจะเล่นตอนเย็น ได้ออกกำลังกาย การทำว่าวต้องใช้สมาธิในการทำ ฝึกความอดทน ต้องทำว่าวให้เกิดความสวยงาม ขึ้นอยู่กับสมาธิ และสติปัญญามารวมกัน จึงจะทำว่าวสำเร็จ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่สามารถทำว่าวสำเร็จได้ อย่างการติดดอกลายบนตัวว่าว จะต้องอาศัยความประณีต อดทน จึงจะทำได้
สำหรับการว่าวจุฬา 9 ศอก ซึ่งมีความใหญ่ เวลาที่จะขยับตัวว่าวแต่ละครั้ง จะต้องใช้คนประมาณ 3 คน ในการหามและพลิกตัวว่าว เมื่อติดกระดาษ ติดลายเบญจรงค์เสร็จจนสวยงาม และใช้คนอีกราว 3 - 5 คน ในการช่วยกันยกตัวว่าวจุฬาขึ้นรถ เพื่อเดินทางไปไว้ที่วัดพระศรีอารย์ เตรียมการจัดงานเทศกาลว่าวลาวเวียงในช่วงวันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2567 นี้