พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดระยะเวลา 70 ปี 126 วัน แห่งการครองราชย์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างต่อเนื่อง
พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร ทำให้พระองค์ทรงได้รับทราบถึงความเป็นอยู่และปัญหาของราษฎรในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาทำข้อมูลสำคัญสำหรับพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือราษฎร
และเนื่องด้วยราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร พระองค์จึงทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง จึงเป็นโครงการพระราชดำริด้านชลประทาน อาทิ สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ ประตูระบายน้ำ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ทำการเกษตรมีผลผลิตที่ดีขึ้น ตลอดจนบรรเทาปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่
โดยพระองค์ทรงมีโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งเป็นงานด้านการชลประทานกว่า 2,000 โครงการ ที่ได้ยังประโยชน์แก่คนไทยทั่วประเทศ แม้ในยามที่ทรงมีพระอาการประชวรก็ยังทรงติดตามงาน และมีพระราชดำรัสต่องานชลประทานมาต่อเนื่อง อาทิเช่น
อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี หรือชื่อเดิมว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการ “เขื่อนห้วยโสมง” ตั้งแต่ปี 2521 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสีย ในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง และเพิ่มน้ำเพื่อการอุปโภคอุปโภค และทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประสบปัญหาการเกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ. 2549 มีพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ รวมกว่า 207 หมู่บ้าน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรกว่า 49,316 ไร่ พื้นที่ทำการประมง/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 289 ไร่ และถนน 360 สาย ซึ่งปัญหาการเกิดอุทกภัยยังคงสร้างความเสียหายให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จ.ปราจีนบุรี เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร เก็บกักน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากมาย ได้แก่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน จำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้ง จำนวน 45,000 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง ที่สำคัญอ่างเก็บน้ำเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาส การเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้
ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานรักษาต่อยอดพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการส่งเสริม พัฒนาแหล่งน้ำ การเกษตร และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.มุกดาหาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2535 ทรงเห็นความยากลำบากของประชาชนในพื้นที่บ้านกุดตอแก่นที่ขาดแคลนน้ำ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทาน ไปพิจารณาพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน โดยให้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน (ห้วยวังค้า) เพื่อช่วยเหลือราษฎรบ้านกุดตอ บ้านกุดตอแก่น และบ้านอื่นๆ ให้มีน้ำใช้ตลอดปี และผันน้ำจากลำห้วยยางลงมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กรมชลประทาน ได้เริ่มโครงการเมื่อปี 2537 โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนและระบบส่งน้ำ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ที่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เพื่อผันน้ำมาเติมให้กับพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อุโมงค์ผันน้ำมีความยาว 710 เมตร เพิ่มความจุน้ำจาก 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 4 ล้าน ลบ.ม. โครงการแล้วเสร็จเมื่อปี 2550 ช่วยเหลือเกษตรกรได้ 1.66 หมื่นไร่ และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2552 พระราชทานชื่ออุโมงค์ผันน้ำดังกล่าวว่า “อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง
ณ วันนี้ แม้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย กรมชลประทาน และปวงพสกนิกรชาวไทยต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และจดจารึกไว้ในดวงใจอย่างมิเสื่อมคลาย รวมทั้งจักขอสืบสานพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดีสืบไป