จากเหตุสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศรถบัสโดยสารของบริษัทชินบุตร ทัวร์ทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี เกิดเหตุไฟไหม้วอดทั้งคันคลอกร่างครูและนักเรียนรวม 23 ชีวิต ขณะจะไปทัศนศึกษาที่กรุงเทพฯเหตุเกิดบนถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จ.ปทุมธานี ช่วงสายวันที่ 1 ต.ค. สาเหตุจากแก๊ส NGV รั่วไหลเพราะสายต่อชำรุดและติดตั้งถังก๊าซ CNG เกินจำนวนจดแจ้งไว้กับทางขนส่ง
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น!!!
ด้วยเหตุนี้ทางนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ออกมากำชับด้วยตัวเอง ให้ “คณะกรรมการป้องกันการใช้รถใช้ถนน” ให้รถที่ติดตั้งก๊าซ CNG และ NGV 1.3 หมื่นคัน ต้องตรวจสอบภายใน 60 วัน และหยุดเดินรถก่อนจนกว่ากระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบให้เรียบร้อย พร้อมสั่งการให้ ครม. ไปพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเดินทางของประชาชนให้มีความปลอดภัย
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องรถโดยสารออกมารับลูก โดย “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม ได้เรียกประชุมพิจารณามาตรการ แนวทางยกระดับความปลอดภัยในการให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง (จากกรณีอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้) ซึ่งทาง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้ทราบสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผล ให้เกิดอุบัติเหตุจากการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ อันจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการเชิงป้องกันและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานและผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีกในอนาคต และให้รายงานผลการดำเนินงานให้ทราบภายใน 15 วัน
โดยได้พิจารณามาตรการ และแนวทางยกระดับความปลอดภัย ในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ และได้มีข้อสั่งการ ดังนี้ 1. มอบรองปลัดกระทรวงคมนาคม หารือร่วมกับอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับรายละเอียดการให้มีหน่วยงานกลางร่วมตรวจประเมินความปลอดภัยของรถโดยสารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ,2. การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการความปลอดภัย อาทิ การต่อยอดระบบ GPS ให้เชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบความปลอดภัยของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager หรือ TSM) ,3. ให้ ขบ. บขส. และ ขสมก. ร่วมกันกำหนดมาตรการตรวจรถก่อนออกให้บริการประชาชนทุกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และ4. พิจารณาแนวทางการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน และยุติธรรมต่อผู้ประกอบการ
ขณะที่ “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพรถตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารที่ใช้ก๊าซ CNG และ LPG ทั่วประเทศ ต้องนำรถเข้ามาตรวจสภาพรถ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5 สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา เสร็จ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2567 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมาตรฐานการตรวจสภาพรถต้องตรวจผ่านตาม Check list อาทิ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ชำรุด เช่น ถังก๊าซต้องไม่บุบ บวม ผุกร่อน เหล็กรัดถังและสกรูยึดขาถังต้องยึดอย่างมั่นคงแข็งแรง ตัวถังก๊าซต้องไม่หมดอายุตามวันที่ผู้ผลิตกำหนด หมายเลขถังก๊าซและจำนวนถังก๊าซต้องตรงกับที่ปรากฏอยู่ในระบบงานตรวจสภาพรถของกรมฯ รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน ประตูทางขึ้น - ลง เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก เครื่องดับเพลิง ต้องมีขนาด จำนวนและการติดตั้งถูกต้องระเบียบ พร้อมใช้งาน หากไม่ผ่านการตรวจสภาพจะพ่นข้อความห้ามใช้จนกว่าจะนำรถไปแก้ไขก่อนและนำมาตรวจสภาพให้ถูกต้องอีกครั้ง จึงจะสามารถนำรถกลับมาใช้ใหม่ได้
ส่วนการเดินทางขนส่งทางน้ำก็มีการออกมากำชับจาก “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ที่สั่งการให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบเรือทุกลำ ทั้งเรือโดยสาร เรือโดยสารสาธารณะ และเรือโดยสารทั่วไป ประกอบด้วย เรือโดยสารต่างๆ มีการให้บริการเดินเรือทั้งในลำแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา และให้บริการชายฝั่งทะเล เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล หรือเกาะต่างๆ มีจำนวนเรือโดยสารรวมทั้งสิ้น 15,685 ลำ ซึ่งจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซลและเบนซิน และสามารถจำแนกออกได้เป็น เรือโดยสารประจำทาง 266 ลำ เรือโดยสารและภัตตาคาร จำนวน 108 ลำ
สำหรับเรือโดยสารประจำทางที่ให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น เรือโดยสารในคลองแสนแสบ จำนวน 60 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B20 เรือโดยสารในลำแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็น เรือด่วนเจ้าพระยา จำนวน 40 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B 20 และเรือไฟฟ้า จำนวน 35 ลำ 2.3 เรือโดยสารภัตตาคาร จำนวน 52 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล
อีกทั้งให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดในทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้างตัวเรือ, ตรวจสอบระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบไฟฟ้า, ตรวจสอบเครื่องยนต์ ระบบกลไกในการขับเคลื่อนเรือ, ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือ อาทิ พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ อุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้, ตรวจสอบระบบติดต่อสื่อสาร สัญญาณไฟเดินเรือ
ส่วนของเรือโดยสารและภัตตาคารที่มีจำนวน 108 ลำ ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยถังแก๊ส LPG ที่ใช้ในการปรุงอาหาร ให้จัดวางแยกจากพื้นที่ที่บรรทุกผู้โดยสารและอยู่ในพื้นที่ดาดฟ้าเปิด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ และเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร นอกจากนั้น บริเวณปรุงอาหารมีอุปกรณ์ดับเพลิง มีการติดตั้งวาล์วนิรภัย อีกทั้งยังต้องกำหนดจำนวนถังแก๊ส เพื่อปรุงอาหารให้เป็นไปตามขนาดเรือโดยสารและภัตตาคาร ขณะที่ผนังในห้องครัวส่วนที่ปรุงอาหารต้องเป็นวัตถุโลหะ รวมถึงต้องมีการกำหนดหลักสูตรอบรมและประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือโดยสารและภัตตาคาร เช่น การดับไฟ การอพยพผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
แม้จะมองว่าเป็นเรื่อง “วัวหาย ล้อมคอก”
ก็ขอให้เหตุกาณ์นี้ เป็นเหตุการณ์สุดท้าย!!