ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ศักดิ์ศรีของคนบ่อยครั้งที่วัดกันที่ภายนอก เช่น เครื่องแบบหรือการแต่งตัว อย่างที่เครื่องแบบทหารก็ใช้วัดกันอย่างหยาบ ๆ แบบนั้น

ขจรเติบโตในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นชนบทของกรุงเทพฯในอดีต ทุ่งบางเขนในสมัยเมื่อ 60 กว่าปีมีแต่ท้องนาและป่าหญ้า แม้จะมีถนนหลายสายตัดผ่าน เริ่มตั้งแต่ถนนพหลโยธิน แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา จนมาถึงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์(ชื่อเดิมของถนนวิภาวดีรังสิต) แต่ก็ยังมีชุมชนและผู้คนอาศัยอยู่บางเบา อย่างไรก็ตามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการกว้านซื้อที่ดินบริเวณรอบ ๆ ถนนเหล่านั้นเป็นวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวของนายทหารทั้งน้อยใหญ่ (แม้แต่คนใกล้ชิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มาซื้อไว้นับร้อย ๆ ไร่ รวมถึงที่มีการแจกแก่ผู้ใกล้ชิดหรือบริวาร แต่ชาวบ้านแถวนั้นลือกันว่าเป็นการ “ปูนบำเหน็จ” เป็นความดีความชอบให้กับการปราบกบฏบวรเดช ใน พ.ศ. 2476 นั้นด้วย ซึ่งโฉนดที่ดินของบ้านผมที่มาซื้อไว้ใน พ.ศ. 2526 ก็ปรากฏชื่อบรรทัดแรกหลังโฉนดว่าเป็นนายร้อยโททหารคนหนึ่งเป็นเจ้าของมาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะขายให้แก่ตระกูลดังรายหนึ่งในอีกไม่กี่ปีต่อมา ซึ่งคนในตระกูลนี้คงแบ่งมรดกและมาประกาศขายในปีที่ผมได้ไปซื้อมา)

ขจรเรียนจบแค่ชั้นมัธยมปีที่ 3 ด้วยความที่เป็นเด็กเกกมะเหรกเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ พ่อจึงให้ไปอยู่กับปู่ย่าและอาที่โคราช ช่วยทำนาทำไร่และเลี้ยงควาย ซึ่งขจรบอกว่าเป็นช่วงที่มีความสุขมาก จนกระทั่งอายุครบบวชก็บวชอยู่ที่บ้านนอกนั้น 1 พรรษา พอสึกออกมาก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งก็ต้องเกณฑ์ที่โคราชตามภูมิลำเนาของบิดา เขาจับได้ใบที่พิมพ์ด้วยหมึกแดงคำว่า “ทอ.1” นั่นก็คือ ต้องเป็นทหารอากาศในโคราช สังกัดกองบิน 1 ซึ่งเป็นฐานบินขนาดใหญ่ เพราะสหรัฐอเมริกาใช้เป็นสนามบินหลักในการทำสงครามในเวียดนาม มีเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น คือ เอฟ 5 อี เขาจำได้ว่าทุก ๆ วันฝูงเครื่องบินเหล่านี้จะบินขึ้นลงทั้งวันและคืน นับสิบ ๆ เที่ยว แต่ที่เขาชอบคือฝูงเฮลิคอปเตอร์ ที่มีหลายรุ่น นับร้อย ๆ ลำ เพราะเขาได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบริเวณที่ขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์เหล่านี้จะไม่ใช้พื้นซีเมนต์ธรรมดา แต่เป็นพื้นที่ปูด้วยแผ่นอะลูมิเนียมที่มีความแข็งเป็นพิเศษ ขนาดกว้างยาวแผ่นละครึ่งเมตรคูณสี่เมตร มาวางต่อกันแบบต่อเข้าร่องขนาดสักครึ่งสนามฟุตบอลใหญ่ ๆ ทราบว่ามีราคาพอสมควร จึงกลัวว่าจะมีคนมาลักขโมยไปขาย จึงต้องมีการกวดขันให้ทหารที่เป็นเวรยามดูแลอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ ซึ่งก็มีตัวเขาเป็นทหารที่ทำหน้าที่เป็นเวรยามคนหนึ่งนั้นด้วย

ชีวิตทหารเกณฑ์ในกองบิน 1 ที่โคราช ทำให้เขาซึมซับว่า “ระเบียบวินัย” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นทหาร โดยเฉพาะทหารผู้น้อยคือพวก ๆ พลทหารอย่างตัวเขา เพราะต้องมีการฝึกเรื่องระเบียบวินัยอย่างหนักตลอดวันและทุก ๆ กิจกรรม ไม่เว้นแต่ในเวลาที่พักผ่อนหรือหลับนอน ซึ่งถ้าพลทหารคนใดฝ่าฝืนหรือเผลอไผลก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก นัยกว่าเพื่อจะให้เข็ดหลาบและจดจำ ไม่ฝ่าฝืนหรือเผลอตัว ทั้งนี้จะมีเสียงนกหวีดเป็นเสียงที่ “สยอง” ที่สุด (จนติดตัวเขามาอยู่ตลอดและต้องสะดุ้งในทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนกหวีดในที่ต่าง ๆ) ในขณะที่นายทหารที่มีชั้นยศแม้แต่จ่าทหารก็ดูจะไม่ต้องเคร่งครัดอะไร รวมถึงที่ชอบทำโทษพวกพลทหารให้หนัก ๆ เหมือนกับจะให้สะใจหรือทดแทนปมด้อยอะไรบางอย่าง

ผมบอกกับขจรว่า ผมเองก็เคยเป็นพลทหารที่กองบิน 1 ในโคราชนั้นเช่นกัน เพราะผมไม่ได้เรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) พอจบมหาวิทยาลัยก็อายุ 21 ปีพอดี ต้องไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งผมสมัครใจที่จะไม่จับใบดำใบแดง โดยใช้สิทธิ์ที่จบปริญญาตรีได้เป็นทหารเพียง 6 เดือน โดยพ่อผมมีภูมิลำเนาอยู่ที่ขอนแก่น ก็สามารถเลือกสังกัดเป็นทหารที่โคราชได้ด้วย ผมจึงเลือกเป็นทหารอากาศเพราะคิดว่าคง “งานเบา” กว่าเป็นทหารบกแน่ ๆ แต่พอไปเป็นเข้าจริง ๆ ก็รู้ว่ามันหนักเอามาก ๆ แม้ว่าผมจะเป็นทหารหลังขจรเกือบ 10 ปี แต่บรรยากาศอัน “น่าอเนจอนาถอย่างแสนสาหัส” นั้นก็ไม่แตกต่างกัน เราจึงคุยกันอย่างออกรส เหมือนกับว่ามีประสบการณ์อยู่ในยุคสมัยเดียวกันกระนั้น

ขจรมาเยี่ยมพ่อที่บ้านริมคลองบางบัวในปีที่ 2 ของการเป็นทหารเกณฑ์ พ่อชมว่าขจรดูเป็นผู้เป็นคน “โก้” มากในเครื่องแบบทหาร แม้จะแค่เครื่องแบบพลทหาร พ่อจึงแนะนำให้ขจรเป็นทหารต่อ เพราะด้วยวุฒิมัธยมปีที่ 3 สามารถเข้าโรงเรียนจ่าอากาศได้ ซึ่งทางกองทัพอากาศเปิดช่องให้แก่ลูกหลานของกองทัพเข้าเรียนได้ เขาก็ตามใจพ่อโดยคิดว่าน่าจะได้เข้ามาในกรุงเทพฯบ้าง เพราะนาไร่ที่โคราชพ่อก็โอนสิทธิ์ตามพินัยกรรมของปู่ย่าให้กับอา 3 คนไปหมด เขาจึงคิดว่าคงต้องทำอาชีพทหารนี้ต่อไป อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปแข่งขันสอบเข้าในการทำราชการที่ไหน ที่สำคัญคือเป็นอาชีพที่พ่อและแม่ของเขาสนับสนุน จึงถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่นั้นด้วย

ขจรดูจะชอบอาชีพทหารนั้นไม่น้อย ยิ่งได้ใส่เครื่องแบบ “โก้ ๆ” ทั้งชุดฝึก ชุดนักเรียนทหาร และชุดขาว แม้แต่ชุดกีฬาก็ยังดูโก้กว่าใคร ๆ ในวัยเดียวกัน ยิ่งเวลาที่ขึ้นรถเมล์ก็ดูเด่นเป็นสง่า สาว ๆ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงสาวใหญ่ก็จ้องมองเขาอยู่ตลอด ที่สำคัญพวกจิ๊กโก๋หรือผู้ชายที่เป็นอันธพาลก็ดูจะ “เกรง ๆ” จนเขาเองก็นึกคันไม้คันมือว่า ถ้าเกิดเรื่องชกต่อยกัน เขาคงจะเอาชนะคนพวกนี้ได้ไม่ยาก เพราะเครื่องแบบของเขาคงจะข่มคนพวกนี้ได้เป็นประเดิมอยู่ก่อนแล้ว กระนั้นด้วยความมีระเบียบวินัยเขาก็ได้แต่คิดและระงับอารมณ์เห่อเหิมนั้นไว้ เหมือนอย่างคำขวัญที่เขาท่องจำไว้ในทุกวันของออกฝึกทุกวันตั้งแต่ตอนที่เป็นทหารเกณฑ์นั้นว่า “ระเบียบ วินัย กล้าหาญ อดทน อ.ย. (อากาศโยธิน) สู้ตาย”

พอจบออกมาจากโรงเรียนจ่าอากาศ เขาก็ไปทำงานในหน่วยธุรการ ในตำแหน่งพนักงานงานสารบรรณ ที่เขาจำได้ว่าวัน ๆ คือเดินส่งเอกสารไปตามตึกต่าง ๆ ที่ดูไม่ค่อยมีความหมายอะไรมาก แต่นั่นก็ได้ทำให้เขาได้ไปพบปะนายทหารคนอื่น ๆ หลาย ๆ คน กระทั่งมี “ท่านรอง” นายทหารยศนาวาอากาศโทคนหนึ่งขอให้เขาไปเป็น “พ.ข.ร.” หรือ “พนักงานขับรถ” เพราะเขาเคยเรียนขับรถกับพ่อมาจนได้ใบขับขี่ตั้งแต่เป็นนักเรียนจ่าอากาศ ทำให้เขาได้ไปปรากฏตัวอยู่ในสถานที่สำคัญ ๆ ในส่วนราชการต่าง ๆ บางคนที่ไม่ทราบยศของเขาก็เรียกว่า “ท.ส.” หรือนายทหารคนสนิททั้ง ๆ ที่เขาเป็นทหารชั้นประทวน แต่นั่นก็สร้างความรู้สึก “ใจพอง” คับอกให้กับเขาได้อยู่เหมือนกัน จนรู้สึกทึกทักเอาเองว่า คนด้วยกันแท้ ๆ เพียงแต่ใส่เสื้อผ้าแตกต่างกัน ก็ทำให้คนเรา “สูง – ต่ำ” หรือมีศักดิ์ศรีแตกต่างกันได้

เขารู้สึกล่องลอยกับชีวิตที่เหมือนความฝัน “ภายใต้เครื่องแบบ” อยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งเขาได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงที่ต่อมาคือคนที่เขาแต่งงานด้วย แต่ในช่วงเวลาที่เขาไปติดพันอยู่กับเธอ มันก็ทำให้เขาได้ “ฉุกคิด” ถึงชีวิตในแง่มุมอื่น ๆ โดยเฉพาะชีวิตในเครื่องแบบ “ชาวบ้าน” ที่เขาคิดว่านี่คือตัวตนที่แท้จริง และยิ่งเขาได้เข้าไปเห็นชีวิตของนายทหารและคนใหญ่คนโตต่าง ๆ มากขึ้น ๆ เขาก็ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบ “สังคม” ว่ามันช่างมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมากมายเหลือเกินหนอ แต่กระนั้นกว่าที่เขาจะหาคำตอบที่จะออกมาให้พ้นสถานะที่น่ารังเกลียดนี้ก็ต้องใช้เวลามาอีกยาวนานเช่นกัน

นานจนเขาคิดว่า น่าจะต้องใช้เวลาอีกหลาย ๆ ชีวิตของเขาแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้

 

ขอบคุณภาพจาก : เฟสบุ๊ค กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force