ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“แท้จริง...สิ่งที่มักจะสร้างความผิดพลาดล้มเหลวให้แก่ชีวิตมากที่สุด..ก็คือการคิดไปว่า..เข้าใจในทุกสิ่งบนโลกนี้แล้ว..นั่นคือความล้มเหลวแห่งสัญชาตญาณ ที่มีความล้มเหลวแฝงฝังอยู่อย่างน่าสะพรึงกลัว ..การที่คนเรามองไม่เห็นภาพสะท้อนอันลึกซึ้งที่เป็นวิถีแห่งสัจจะของตนเองนั้น ...ถือเป็นความผิดพลาดอันแสนเศร้า..ที่เงาสะท้อนของตนเองนั้นเสมือนดั่งได้สูญหายไป..
ทั้งๆที่ในการผันแปรและหมุนเวียนแห่งชีวิตของคนเราทุกคน จักต้องมีนัยความหมายปรากฏขึ้นผ่านการอ่านรหัสความหมายแห่งตัวตนของตนในทุกๆเมื่อ ..มันคือข้อวินิจฉัยในทางจิตวิญญาณที่คนเราทุกคนจักต้องจดจำ..ดั่งว่า..
“สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในการอ่านหนังสือในแต่ละเล่ม ในแต่ละครั้งครา ย่อมคือ การคิดไปเองว่าเราได้เข้าใจมันแล้ว”...
เพราะนั่นคือ มูลเหตุสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนไม่สามารถจะสัมผัสกับสิ่งที่มีค่า..ซึ่งชีวิตจะพึงมีได้ กับปัญญาญาณอันสูง ในนามของ มนุษยชาติ ณ วันนี้..ได้เลย..แม้แค่เพียงความน้อยนิด...!
“อ่านแบบโทได..” คือหนังสือเล่มหนึ่งที่เมื่ออ่านแล้ว จะต้องหยุดใคร่ครวญ..สูดลมหายใจเข้าปอดด้วยสัญชาตญาณแห่งการรับรู้อันอิ่มเต็ม..มันคือ"คมเข็ม"ที่บ่งเข้าไปในเนื้อในของชีวิต ..เพื่อควานหารอยต่อแห่งการเรียนรู้ภายใน ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างมิดชิด ยากลำบากต่อการแกะรอย พลังความหมายอันวกวนและทรงพลังนั้นได้โดยง่าย
แล้วอะไรเล่าคือความหมายอันน่าค้นหาของ “โทได” (TO DIA) มันคือสิ่งใดในสิ่งใดต่อมิติแห่งการเป็นความหมายอันเป็นอัศจรรย์ของชีวิต..กันแน่..นี่คือชื่อเรียก “นามีฉายา” ของมหาวิทยาลัย “โตเกียว” ของญี่ปุ่น..ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ..ที่สอบเข้าเรียนได้ยากที่สุด
ชื่อโทไดย่อมาจาก “Tokyu Diakaku” หรือ “The University of Tokyo” นั่นเอง การสอบเข้าเรียนยาก..ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีแต่คนเก่งๆเท่านั้นที่มาสอบแข่งขัน..เหตุนี้นักศึกษาที่เรียนอยู่จึงล้วนแต่เป็นเหล่า “หัวกะทิ” ที่ชาญฉลาดทั้งสิ้น
“จะเรียนให้เก่งได้อย่างไร...เป็นคนเก่งจะต้องมีวิธีคิดอย่างไร?”
“นิชิโอกะ อิสเซ” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้..ได้ยอมรับและระบุว่า ..แต่เดิมก่อนหน้าที่จะเข้าเรียน ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้.. “ผมอ่านหนังสืออย่างหนัก..และตั้งใจเรียนไม่แพ้ใครในชั้น แต่ไม่ว่าจะเพียรพยายามหนักแค่ไหน ผมก็ยังสอบได้ที่รั้งท้ายของชั้น..จนมาวันหนึ่งผมได้เปลี่ยนคำถามมาเป็นตาม"นัยสำคัญข้างต้น” ..การเรียนของผมจึงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างพลัง ..ที่มีคุณค่าสู่ชีวิตตลอดมานับแต่นั้น..จนกระทั่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยโทได..ได้ในที่สุด..!
กุศโลบายและกลไกแห่งชีวิตในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก...คืออย่างไรบ้าง?..นั่นคือคุณค่าแห่งชีวิตของหนังเล่มนี้..ที่ทั้งเลอค่าและมีคุณประโยชน์ต่อกระบวนการศึกษาของโลกสมัยอย่างยิ่ง ..มันคือ “ขุมทรัพย์แห่งปัญญาญาณ” ที่ต้องขุดลึกลงไปใน “จิตวิญญาณของการศึกษา” แห่งโลกวันนี้ให้พบ..
ว่ากันว่าหนังสือที่ควรอ่านแบบ “โทได” จักต้องเป็นหนังสือที่มอบความรู้แก่เรามากที่สุด..โดยเฉพาะในด้านของ.. “การคิดพิจารณาต้นน้ำ..ของคนที่คิดในบางสิ่งที่สำคัญยิ่งได้อย่างไร?/การคิดพิจารณาถึงมูลเหตุต่างๆขณะที่ตัวตนใส่ใจและตั้งใจในการอ่านจึงเป็นหนทางสำเร็จของการค้นพบความหมายแห่งการกระทำในทุกๆสิ่ง..ของชีวิต..ได้อย่างถ่องแท้..!
นัยแห่งการกระทำที่ชีวิตสมควรจะต้องพานพบ...ประกอบด้วยสิ่งอันเป็นประสบการณ์ที่เราต้องเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน..อ่านตัวตน อ่านชีวิต อ่านปรากฏการณ์ของโลกให้ออก..ซึ่งวิธีการต่อไปนี้..จะให้ค่าและมีผลต่อการตัดสินใจที่จะรับรู้และหยั่งรู้ของเรา..
เริ่มต้นจากว่า..เราควรที่จะกำหนดเป้าหมายในการอ่าน..ก่อนที่จะเลือกหนังสืออ่าน...โดยต้องพยายามที่จะอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายๆกัน ..แต่ผู้เขียนมีความเป็นตัวของตัวเองในแต่ละคน มาอ่านพร้อมๆกัน..ความแตกต่างในมิติและชีวิตของการเขียน จะทำให้ความเข้าใจดิ่งลึกและขยายเปิดกว้างขึ้น เหตุนี้..ในเวลาที่อ่านหนังสือหลายเล่มติดต่อกันและพร้อมๆกัน ให้พยายามหาประเด็นขัอถกเถียงให้ตัวเอง..ซึ่งประเด็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะมาจากการตีความหมายของตัวเองที่แตกต่างกัน..ได้ด้วยเป็นต้น..
นอกจากนี้..การอ่านหนังสือเล่มเดิมอีกครั้ง ด้วยเป้าหมายเดิม ถือเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์..หากเราต้องอ่านอีกครั้ง..เราต้องมีเป้าหมายใหม่และพยายามสร้างมันขึ้นมาให้ได้..ที่สำคัญที่สุดในโครงสร้างของการอ่านก็คือ เราจะลืมเนื้อหาที่เราอ่านไป เมื่อเราไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในทางที่ดีเราจักต้องนำความรู้ที่มีประโยชน์นี้ไปประยุกต์ใช้กับเรื่องใกล้ตัว..ให้เป็นผลที่มีค่าต่อชีวิต..
จนที่สุด..มันก็จะเกิดข้อสรุปแก่หนังสือ..ซึ่งก็มีความหมายถึงว่า..มันคือการเกริ่น “ตัวโปรย” ..แก่หนังสือเล่มหนึ่งๆอย่างชัดเจนนั่นเอง..
ที่สุดแล้ว..ให้นักอ่านเลือกอ่านหนังสือที่ขายดี เพราะว่ามันเป็นกระแสสังคม ณ ขณะนั้น ...ที่อาจจะก่อให้เกิดประเด็นแห่งการถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์..เกิดขึ้นได้อย่างเป็นสาธารณะ..กระทั่งกลายเป็นโอกาสที่จะบังเกิดข้อแนะนำจากคนที่น่าเชื่อถือ..หรือได้สัมผัสรับรู้กับหนังสือขึ้นหิ้งที่คนยังนิยมอ่านกันอยู่..จนถึงปัจจุบัน..
“ลองอ่านหนังสือที่เราไม่คิดจะลองอ่านบ้าง..หนังสือจะดีหรือไม่ดีนั้น..ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน..เพียงเท่านั้น..!!!”
นอกจากนี้..ประเด็นแห่งการตั้งคำถาม จะช่วยพัฒนาทักษะในการอ่าน..ในขณะเดียวกัน การตั้งข้อสงสัยจะเป็นการพัฒนาทักษะ..ในการคิดของเรา..ดังนั้น..เมื่อมีข้อสงสัยเราต้องค้นคว้าหาความรู้และความจริง..เพื่อจัดการกับข้อสงสัยเหล่านั้นให้..กระจ่างชัด..
“สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในการอ่านหนังสือ..ก็คือการที่เราคิดไปเองว่า..เรานั้น..เข้าใจแล้ว ..!”
อย่างไรก็ดี..การอ่านไปและคิดไป จะทำให้เราได้รับความรู้..ไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์ที่แม่นตรงและมีรายละเอียดเกิดขึ้น..
นั่นจึงจำเป็นที่ว่า..เวลาอ่านหนังสือ ให้เราพร้อมคาดการณ์ไปด้วยว่า...ในส่วนต่อๆไป..ผู้เขียนน่าจะบอกอะไรต่อเรา..และครั้นเมื่ออ่านจบแล้ว ให้เราเขียนสรุปในแต่ละหัวข้อ โดยมีความยาวไม่เกิน 30 คำ..และสรุปทั้งเล่ม โดยมีความยาวไม่เกิน 40 คำ..
แท้จริงแล้ว....ข้อสรุปมักจะอยู่ในตอนต้น และตอนท้ายของแต่ละหัวข้อ..ด้วยเหตุนี้...เวลาอ่านหนังสือให้เราได้ถกเถียงกับหนังสือ..เช่นตั้งคำถามว่า..ทำไมผู้เขียนถึงเป็นอย่างนี้...สิ่งนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?
การอ่านหนังสือ..ควรอ่านถึงข้อมูลหนังสือ..ทั้งการอ่านข้อมูลบนหน้าปกและสายคาด “สันข้าง” เป็นเครื่องประกอบ..แล้วตั้งสมมติฐาน ว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเกี่ยวกับอะไร..และเขียนถึงสิ่งใด?..เพราะเป้าหมายในการอ่านของแต่ละคน..ก็ย่อมจะต้องผสานกับเป้าหมายในการเขียนของแต่ละคนเช่นกัน..
จงเลือกอ่านหนังสือที่ผู้เขียนมีคุณภาพกว่าเรา..ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว..และที่ต้องจดจำและสำคัญที่สุดก็คือ.. “ให้อ่านหนังสือแบบ “นักข่าว” เพราะเราจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึก..ในหัวใจของผู้เขียน..อย่างแท้จริง..!”
ภัทรวรรณ สอนประพันธ์ แปลและถอดความหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างงดงามและเข้าใจในรายละเอียดของความเป็นมิติชีวิต..และ ผมก็ถือเอาหนังสือ “การอ่านแบบโทได” เป็นประโยชน์สุขของชีวิต..มันขานไขช่องทางพื้นฐานของผัสสะความคิดและการกระทำให้สอดผสานกันได้โดยง่าย..ลึกซึ้งและลึกเร้นในวิจารณญาณ..
เราต่างเป็นผู้อ่านปรากฏการณ์ในห้วงเหวของโลกอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน..ผ่านไปในแต่ละเวลานาทีด้วยความฉาบฉวยและตื้นเขิน.. แต่นั่นไม่ใช่..ความหมายอันชวนยกย่องในความเข้าใจของชีวิตที่เป็นชีวิต..
ความเรียบง่ายของหนังสือเล่มนี้..ถูกขยายเปลวประกายทางความคิดผ่านบทเรียนชีวิตขั้นพื้นฐาน..ไม่ให้เรามองข้ามผ่าน..แต่ให้เราได้ตระหนักรู้และซาบซึ้งกับหัวใจของปรากฏการณ์อันปลีกย่อย.นี้!.
เมื่อเราเก็บเกี่ยวสาระถ้อยคำจากสาระความคิดของหนังสือเล่มนี้ได้อย่างตกผลึก.. “ความเรียบง่ายที่แฝงเร้น” นั้น..จะพลิกกลับมาสอนถึง “ความแฝงเร้นที่เรียบง่าย” ในปลายสุดแห่งความหมายของชีวิต ที่เราจำเป็นต้องก่อผัสสะ ค้นหา และ อยู่ร่วม..เพื่อบ่มเพาะตัวตนอันเจิดกระจ่างขึ้น...ในเราที่เป็นเรา ..ตราบนิรันดร์...!
“หา” ก้างปลา “..ในหนังสือให้เจอ...เมื่อรู้สึกว่าเข้าใจ...นั่นคือจุดที่ควรระวัง!!”