เมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล โพสต์กลอนผ่านเฟซบุ๊กว่า .....
อุโมงค์น้ำสวรรค์
๏ ไหลมาจากเทือกเขาลำเนาฟ้า
สืบทอดภูมิปัญญาเหนือหล้าแหล่ง
เมื่อหิมะแปรเป็นน้ำอันสำแดง
มาหล่อเลี้ยงเขตแขวงแดนบุรี
๏ ขุดท่อใต้ดินเป็นแนวนอน
ตักตะกอนท่อปรุงบำรุงที่
มีน้ำกินน้ำใช้ในทันที
น้ำดินดีพืชไร่ในพารา
๏ ขุดแนวตั้งตาข่ายใยแมงมุม
เพื่อควบคุมน้ำผ่านทุกย่านท่า
เชื่อมต่อกันหล่อเลี้ยงเสบียงมา
ทำกำไรขายค้าสาธยาย
๏ เป็นบ่อน้ำท้องคุ้งอำรุงเมือง
อร่ามเรืองพืชพรรณอันหลากหลาย
ถึงแดดแรงฟ้าววาวอยู่พราวพราย
เส้นเลือดสายหลักเมืองแต่เบื้องบูรพ์
๏ เป็นคาเรสวางท่อต่อบนดิน
ทุกย่านถิ่นดำรงอยู่มิรู้สูญ
เลี้ยงทุ่งท่านาไร่ไพรประยูร
จนค้ำคูณรุ่งเรืองบ้านเมืองเจริญ
๏ มรกตเม็ดงามบนผืนทราย
สะพรั่งพรายแนวด่านกันดารเหิน
หล่อเลี้ยงให้ชุ่มฉ่ำลำนำเชิญ
อุโมงค์เพลินชลธีศรีประทาน ๚
มหา สุรารินทร์
ศ.20 กันยายน 2567 เวลา 16.07 น.
มิวเซียมระบบชลประทานถูหลู่ฟาน เมืองถูหลู่ฟาน มณฑลซินเจียง
ระบบชลประทานถูหลู่ฟาน หรือ คันเอ๋อร์จิ่ง ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า คาเรส หมายถึงอุโมงค์ส่งน้ำฝีมือจากมันสมองมนุษย์ จนเกิดผลไม้ ผู๋เถาโถว สายธารที่หล่อเลี้ยงไร่องุ่นเขียวดังมรกตบนผืนทรายที่แล้งกันดาร
เมืองถูหลู่ฟานดินแดนที่ได้ชื่อว่าร้อนแล้งในฟ้าไม่มีน้ำในดินซ้ำมีแต่ทราย ถึงกระนั้นมนุษย์ย่อมแสวงทางรอดเพื่ออยู่ร่วมกับพื้นที่ธรรมชาติโหด
คนโบราณที่นี่คิดค้นระบบชลประทานที่เรียกว่า "คาเรส" มีลักษณะเป็นอุโมงค์ส่งน้ำอยู่ใต้ดินและขุดรูคล้ายบ่อน้ำไว้ตามผิวดินไว้ด้านบนถือเป็นภูมิปัญญาทางวิศวกรรมอันล้ำค่าของคนโบราณที่มีอายุเก่าแก่ราว2,000ปี
ระบบชลประทานถูหลู่ฟานนับเป็นหนึ่งในโครงการวิศวกรรมขนาดใหญ่ในยุคจีนโบราณร่วมกับกำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์ฉินเป็นต้นมาถึงราชวงศ์หมิงอีกแห่งร่วมสมัยคือตูเจียงเยี่ยน (都江堰) ซึ่งเป็นระบบชลประทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนยุคโบราณอยู่เสฉวนและคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองขุดปักกิ่ง-หางโจวในสมัยราชวงศ์สุย
แวะชมมิวเซียมระบบชลประทานถูหลู่ฟานก่อนอำลาเดินทางสู่นครอูหลู่มู่ฉีดินแดนสุดหล้าฟ้าเขียวเมืองเอกแห่งมณฑลซินเจียงเป้าหมายเส้นทางสายแพรไหมสายเหนือของทริปนี้
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต