ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ /ทหารประชาธิปไตย

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า อิหร่านได้ปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ด้วยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค หลายหัวรบ โดยเฉพาะเจาะจงโจมตีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์การทหาร ซึ่งต่างกับอิสราเอลที่เลือกโจมตีพลเรือนในกาซา และเลบานอน ทำให้เด็กและผู้หญิงเสียชีวิตนับหมื่น

สาเหตุที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลนั้น อิหร่านได้อ้างสิทธิในการป้องกันตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่ 51 เนื่องจากอิสราเอลได้ไปลอบสังหารผู้นำฮามาส อิสราเอล ฮานิเยห์ ที่อิหร่านเชิญไปร่วมพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีเปเซสกียอนแห่งอิหร่าน ณ กรุงเตหะราน เมื่อคืนวันอังคารต่อเนื่องเช้าวันพุธที่ 31 ก.ค. และอิหร่านประกาศว่าจะโจมตีตอบโต้ในวันเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ในเบื้องต้นหลังถูกโจมตีอิสราเอลได้แถลงว่าไม่มีความเสียหายใดๆ เพราะระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล ที่มีอยู่หลายระบบ สามารถสกัดได้กว่า 90% ขีปนาวุธที่เหลือตกในที่ว่างเปล่า แต่เมื่อสำนักข่าวต่างๆตลอดจนทางการอิหร่านได้เผยแพร่ภาพข่าวออกมา จึงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าอิสราเอลได้รับความเสียหายทางทหารอย่างมาก โดยเฉพาะการโจมตีสนามบิน NEVATIM ที่เก็บเครื่องบินรบ อย่าง F-35 ไว้ 50-60 ลำ จนเครื่องบินเสียหายตามข่าวว่าถึง 20 ลำ

ต่อมานายเนทันยาฮูนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาให้ข่าวว่ามันเป็นความผิดพลาดของอิหร่าน และอิสราเอลจะเอาคืนอย่างสาสม จนอิหร่านต้องเสียใจ แต่ไม่บอกว่าเมื่อไร

จากนั้นก็มีข่าวจากนักวิเคราะห์ในฝั่งฟากสหรัฐฯ คาดคะเนว่าอิสราเอลคงโจมตีตอบโต้กลับ ด้วยการโจมตีแหล่งพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน ซึ่งอิสราเอลอ้างว่าอิหร่านอาจพัฒนาไปสู่การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ หรือไม่ก็อาจจะโจมตีแหล่งขุดเจาะเก็บรักษาพลังงาน ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของอิหร่าน ข่าวนี้ได้รับการขานรับจากฝั่งอิสราเอล ซึ่งอิหร่านก็ตอบโต้ว่าอิหร่านมีแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนับร้อย แต่อิสราเอลมีแค่ 3 แห่ง ซึ่งไม่ยากที่จะทำลาย นอกจากนี้อิหร่านยังขู่ว่า ถ้าอิสราเอลทำอย่างนั้น อิหร่านจะทำให้ไม่มีน้ำมันออกจากตะวันออกกลางสักหยด นั่นหมายความว่าอิหร่านคงจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ

จึงลองมาเข้าใจลักษณะของช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งมีระดับความลึกโดยเฉลี่ย 80 เมตร กว้าง 54 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างประเทศโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ และอิหร่านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ช่องแคบนี้เป็นทางผ่านของเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย หรือทะเลอาหรับทั้งหมดคิดเป็น 40% ของการขนส่งน้ำมันทางทะเลทั้งหมด หรือคิดเป็น 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้หากอิสราเอลโจมตีแหล่งพลังงานของอิหร่าน อิหร่านก็อาจตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งแน่นอนย่อมจะเดือดร้อนกันไปทั่ว และราคาน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ประเด็นนี้คงต้องมีปฏิกิริยาจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย และสหรัฐฯ คงต้องเข้าแทรกแซง ซึ่งแน่นอนรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่านก็จะต้องเข้ามาปกป้องอิหร่านหรือถ้าอิหร่านล้มเหลวในการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ฮูตีก็อาจช่วยอิหร่านในการปิดช่องแคบ หรือทำเรื่องใหญ่กว่านั้นคือทำลายเคเบิลใต้น้ำที่ผ่านทะเลแดงซึ่งจะกระทบต่อการสื่อสารทั้งการค้าและการทหารขนาดหนัก

อย่างไรก็ตามหากอิสราเอลตัดสินใจทำลายศูนย์พัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งจัดสร้างอยู่ใต้ภูเขา อันทำลายได้ยากหากใช้ระเบิดธรรมดา ดังนั้นอิสราเอลอาจใช้นิวเคลียร์ ซึ่งนั่นคือการเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าอิหร่านจะมีระเบิดนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ยากที่จะหาหรือจัดสร้างด้วยความสามารถของอิหร่านและเป็นเหตุอันอิหร่านสามารถขอถอนตัวจากข้อตกลงไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ได้ นอกเหนือจากข้อจำกัดทางศาสนาที่เคยกำหนดไว้

คราวนี้มาพิจารณาถึงมหาอำนาจผู้หนุนหลังทั้งด้านอิสราเอลและด้านอิหร่าน

สหรัฐอเมริกาถือเป็นความสำคัญเป็นอันดับแรกของนโยบายทางทหารและด้านอื่นๆ ที่จะต้องปกป้องอิสราเอล ทั้งนี้เพราะอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากขบวนการไซออนิสต์ในสหรัฐฯ ที่ควบคุมการเมืองของสหรัฐฯ ตั้งแต่ประธานาธิบดีจนถึงสมาชิกสภาคองเกรสและซีเนตกว่าครึ่ง เพราะขบวนการไซออนิสต์เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสำคัญที่กุมทั้งเงินและอำนาจ เช่น อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมอาวุธ อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี และภาพยนตร์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมอาหารและยา ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้จึงจ่ายเงินให้กับขบวนการล็อบบี้ยิสต์ AIPAC (American Israel Public Affair Committee) ที่ให้การสนับสนุนการเลือกตั้ง ทั้งระดับสูงและระดับล่าง จึงไม่น่าประหลาดใจที่สหรัฐฯจะต้องสนับสนุนอิสราเอลอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูในทุกๆด้าน รวมทั้งใน UN

ข้อสำคัญคือสหรัฐฯ จะสนับสนุนอิสราเอลทั้งทางรุกหรือทางป้องกัน ตัวอย่างการให้การสนับสนุนในการโจมตีกาซา ด้วยอาวุธและระเบิดที่ไปเข่นฆ่าชาวกาซา โดยเฉพาะเด็ก เช่นให้การสนับสนุนทางการเงินโดยไม่มีข้อผูกพันปีละ 300,000 -400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือให้ระบบป้องกันกับทางอากาศ จนถึงการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและทหารไปช่วยอิสราเอล เมื่ออิสราเอลเปิดฉากการรบกับฮิซบอลเลาะห์

ด้านรัสเซียนั้นนอกจาเป็นพันธมิตรกับซีเรีย และอิหร่านในภูมิภาคนี้ แต่รัสเซียเน้นการป้องกันมากกว่าการรุกรานและถือว่าสมรภูมินี้มีความสำคัญน้อยกว่าสงครามยูเครนเพราะนั่นคือประตูบ้านของรัสเซีย ถ้าแพ้คือหมดสิ้น ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่ารัสเซียคงใช้นิวเคลียร์หากถึงเวลานั้น

จะเห็นได้ว่าเมื่ออิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีรัสเซีย รีบเดินทางไปเตหะราน เพื่อแสดงท่าทีปกป้องอิหร่านหากถูกโจมตีไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลหรือสหรัฐฯ

นอกจากนี้ รัสเซีย ยังส่งระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศไปให้อิหร่าน โดยเฉพาะ S-400 ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพอย่างสูงในการป้องกันภัย

ที่แตกต่างจากสหรัฐฯก็คือ รัสเซียแม้จะมีสนธิสัญญาทางทหารกับอิหร่าน และต้องอาศัยอิหร่านในการผลิตโดรน และขีปนาวุธพิสัยใกล้จากอิหร่าน เพราะรัสเซียผลิตไม่ทันใช้ในสงครามกับยูเครนที่มีนาโต้สนับสนุนทั้งอาวุธและกำลังพล

ดังนั้นรัสเซียย่อมต้องปกป้องอิหรานอย่างเต็มที่ เพราะถ้าสูญเสียอิหร่าน รัสเซียก็เกือบไม่มีที่ยืนในตะวันออกกลาง และสูญเสียความน่าเชื่อถือในกลุ่มประเทศอาหรับ ที่รัสเซียพยายามขยายความสัมพันธ์เพื่อลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง

ด้านจีนก็แสดงท่าทีสนับสนุนอิหร่านด้วยการส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศไปให้ติดตั้งเพื่อปกป้องผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ด้านท่าทีของจีนนี้ ด้านหนึ่งจีนถืออิหร่านเป็นพันธมิตรที่สำคัญ แต่อีกด้านจีนก็หวังความร่วมมือด้านพลังงานคือน้ำมันและก๊าซจากอิหร่าน แต่จีนจะไม่เปิดหน้าออกมาปกป้องทางทหาร นอกจากทางการเมืองระหว่างประเทศ

หากพิจารณาท่าทีของรัสเซียนั้นรัสเซียไม่อยากเกี่ยวข้องกับสงครามในตะวันออกกลางโดยตรง แต่อยากเห็นความวุ่นวายตึงเครียด เพื่อดึงสหรัฐฯไปติดกับที่นี่ จะได้ไปวุ่นวายที่ยูเครนน้อยลง

ด้วยท่าทีของมหาอำนาจแบบนี้อิสราเอลคงต้องประเมินผลอย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจดึงสหรัฐฯเข้าสงคราม โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งที่จะมีผลเสียต่อคะแนนนิยมของพรรคเดโมแครต

นอกจากนี้การโจมตีอิหร่านทางอากาศตามจุดที่ประกาศนั้นไม่ง่ายเพราะต้องใช้ฝูงบินขนาดใหญ่ร่วม 100 ลำ และต้องเติมน้ำมันกลางอากาศซึ่งต้องพึ่งสหรัฐฯ เพราะระยะทางไกลกว่า 1,000 ก.ม. เท่านั้นยังไม่พอต้องบินผ่านน่านฟ้าของซีเรีย จอร์แดน อิรัก และซาอุดีอาระเบีย อันจะเกิดปัญหาละเมิดน่านฟ้าได้ ทั้งสหรัฐฯเองคงไม่ยินดีให้อิสราเอลลากตนเข้าสู่สงครามโดยไม่ให้รายละเอียดของแผนเหมือนที่ทำมาในการลอบสังหารผู้นำฮามาสและผู้นำฮิซบอลเลาะห์ที่ผ่านมา

ด้วยปัญหาหลายด้านจึงคาดว่าอิสราเอลคงใช้วิธีตอบโต้อิหร่านด้วยการลอบสังหารบุคคล หรือวินาศกรรมสถานที่สำคัญด้วยจารชนที่แฝงตัวอยู่ในอิหร่านมากกว่า ตอนนี้ก็ได้แต่ระบายแค้นใส่คนอ่อนแอกว่าอย่างชาวกาซาหรือชาวเลบานอน แต่ไม่กล้าเปิดศึกโดยตรงกับอิหร่านโดยไม่มีสหรัฐฯ