“มูลนิธิรณรงค์- ทนายเดชา พาผู้เสียหายลุยแจ้งความ ปคบ. หลังเป็นเหยื่อร่วมลงทุนกับบริษัทดัง มีนักแสดงดังเป็นระดับผู้บริหาร เชื่อมีดาราติดคุกแน่

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ต.ค.67 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ฯ พาตัวแทนผู้เสียหายกว่า 20 คน จาก 500 คน เข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. หลังร่วมลงทุนเปิดบิลกับบริษัทเครือข่ายชื่อดัง ”ไอคอน“ ที่มีดาราเป็นผู้บริหาร ปรากฎว่าของขายไม่ออก แต่ยังต้องหาลูกทีมเพิ่มลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ ผู้เสียหายบางรายยัวถูกให้เซ็นเอกสารปิดปากห้ามแจ้งความด้วย

นางเอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ตนเริ่มจากการเห็นตามโฆษณาทางทีวีหรือผ่านโซเชียล ว่าบริษัทดังกล่าวมีการเปิดสอนการทำธุรกิจออนไลน์ฟรี 50 -100 ท่านแรก หรือมีค่าเรียนแค่ 98-99 บาท ตนเกิดความสนใจสมัครเรียน จนมาวันที่ 3 ของการเรียนก็จะมีระดับแม่ทีมลงมาสอนแนะนำให้ทำธุรกิจ อ้างว่าสามารถสร้างรายรายได้อีกกระเป๋า แต่ต้องเสียค่าสมัครเพื่อร่วมธุรกิจ จำนวน 2,500 บาท ก็จะได้สินค้า และมีระบบหลังบ้านให้ทั้งหมด การตลาดก็ดี มีดารานักแสดงชื่อดังร่วมงานซึ่งจะพบเจอได้ในเฉพาะงานอีเวนท์ แต่จะมีค่าบัตรเข้าร่วมงาน จำนวน 1,500 บาท เท่าที่เห็นจะมีจำนวน 3 คนด้วยกัน ซึ่ง 3 คนนี้ เท่าที่ได้ยินมาไม่ใช่แค่เป็นพรีเซนเตอร์ แต่เป็นถึงระดับผู้บริหารที่คนจะเรียกกันว่า “บอส”

นางเอ กล่าวต่อว่า พอตนเริ่มสนใจลงทุนธุรกิจ ช่วงแรกเงินมีไม่พอ บัตรเครดิตก็มีไม่พอจนมีแม่ทีมเป็นคนแนะนำให้ขยายวงเงินในบัตรเครดิต พร้อมแนะนำให้โทรไปหาธนาคารเพื่อขยายวงเงิน ประกอบตอนนั้นแม่ทีมขายฝันว่าส่วนแบ่งและผลกำไรจะได้เยอะอย่างไรบ้าง จึงทำให้ตัดสินใจหาเงินเข้าไปลงทุน โดยใช้เงินเก็บทุกบาทในชีวิตพร้อมกับเงินจากบัตรเครดิตจนตอนนั้นไม่เหลือแม้แต่เงินจะกินข้าว 

นางเอ กล่าวต่อว่า พอหลังจากลงทุนไปแล้วกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่การขายของเหมือนกับการที่ถูกขายฝันเอาไว้ แต่เป็นให้เราไปโฆษณาในโซเชียลเหมือนกับที่เคยเจอตอนแรก ด้วยการยิงแอดโฆษณาลงในเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นการขายสินค้าเหมือนกับที่ตัวเองนั้นได้ซื้อมา ซึ่งการโฆษณาทางบริษัทก็จะมีสคริปให้พูดทุกอย่าง หากสามารถหาดีลเลอร์ หรือลูกค้ามาได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากการหาคนมาสมัครต่อหัว ซึ่งเปอร์เซ็นต์แล้วแต่สินค้าตัวนั้นๆ สุดท้ายหลังจากที่เริ่มเรียนไปเรื่อยๆก็รู้สึกได้ว่าไม่ชอบมาพากล เพราะก็ไม่ได้สอนให้ขายสินค้า แต่สอนให้หาคนมากระจายสินค้าด้วยการยิงแอดโฆษณา หาดีลเลอร์มาลงทุนแบบตัวเอง ตอนนั้นแม้จะไม่มีเงินยิงแอดโฆษณา แม่ทีมมีการแนะนำให้เอารถไปรีไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมายิงแอดโฆษณาหาลูกค้าคนอื่นๆ หรือหานักเรียนคนอื่นเข้ามาเรียน ทั้งแนะนำให้มีการชวนเพื่อน มีเบอร์คนไหนก็ให้โทรชวนคนนั้น จนตอนนี้ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต เงินที่ใช้ไปลงทุนก็ไม่เคยเห็นผล สินค้าก็ขายไม่ออก ไปขายให้ใครก็ไม่มีใครซื้อ

ส่วนนายบี (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตน เคยตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากตนได้ลงทุนไปจำนวนเงินกว่า 200,000 บาท ตนเครียดเนื่องจากมีการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่สินค้าที่ตนนำมาสต๊อกกลับขายไม่ได้ ขณะนี้สินค้ากองอยู่ที่บ้านจนหมดอายุ โดยตัวบอสใหญ่มักใช้วลี “ ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” มาชักจูงจนทำให้ให้คนหลงเชื่อ

ขณะที่ นายรภัสสิทธิ์ เปิดเผยว่า วันนี้พาผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 20 คนจาก 500 คนในกลุ่มที่เข้าไปร่วมธุรกิจกับบริษัทนี้ เข้ามาแจ้งความและให้ข้อมูลกับตำรวจในประเด็นที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดธุรกิจขายตรงเครือข่ายนี้ถึงทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และในเรื่องของกฎหมายทางตำรวจต้องตรวจสอบว่าบริษัทนี้ จะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน หรือความผิดในเรื่องของแชร์ลูกโซ่ ตาม พรก.กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ เพราะพบมีการโฆษณาเกินจริงหรือเป็นเท็จ

นายรภัสสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มีผู้เสียหายบางส่วนเคยมาแจ้งความไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดี เพราะผู้เสียหายบางรายได้ไปขอความช่วยเหลือกับบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่มีการไปตกลงกับทางบริษัทดังกล่าวให้จ่ายคืนผู้เสียหายจำนวน 50% แต่ต้องให้ผู้เสียหายเซ็นเอกสารสัญญาปิดปากไม่ให้แจ้งความ อย่างไรก็ตามอยากเรียนผู้เสียหายว่าคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน แม้จะมีบันทึกข้อตกลงยอมความ ก็ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นไม่ต้องกลัวขอให้เข้าแจ้งความได้เลย

นายรภัสสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วน ก่อนหน้านี้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีการพิจารณา ว่าบริษัทดังกล่าวไม่เข้าข่าย กระทำความผิดกฎหมาย ตนมองว่าเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากการทำธุรกิจของบริษัทดังกล่าว มีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการตีความข้อกฎหมาย มีทั้งส่วนที่เสียผลประโยชน์และได้ประโยชน์ และอาจมีการเลี่ยงบาลีในการตีความ จึงอยากให้ผู้เสียหายเข้ามาให้ข้อมูลให้ได้มากที่สุดด้วย

ขณะเดียวกัน ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ พร้อมด้วย ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ พาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากการลงทุนกับ บริษัท The icon group กว่า 10 ราย เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)  โดยให้ความสำคัญกับกรณีแชร์ลูกโซ่มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่คดีการฟอกเงิน และหากพยานหลักฐานเพียงพอก็จะขอให้ดำเนินการยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 

ด้านนายแทนคุณระบุว่า พฤติการณ์ของบริษัทนี้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและโฆษณาเกินจริง เกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์ เมื่อมีผู้หลงเชื่อจะชักชวนให้ร่วมลงทุน เปิดคอร์สราคา 97 บาท ก่อนขยับเป็นขั้นบันดัน ไปจนถึง 250,000 บาท เพื่อเป็นดีลเลอร์ และสามารถสร้างทีม และรับผลประโยชน์เพิ่ม และหลังจากน้้นจะมีการโน้มน้าว เชิญชวนให้ยิงแอดโฆษณาหารายได้ เฉลี่ยแล้ว 1 คน จะเสียหายอย่างน้อย 5 แสนกว่าบาท 

นายแทนคุณ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลล่าสุด มีผู้เสียหายที่มาร้องทนายเดชาแล้วมากกว่า 500 คน ในวันนี้มีตัวแทนมา 10 คน  ส่วนผู้เสียหายรายอื่น สามารถเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่บ้านตนเองได้เลย ส่วนกรณีการนำผู้มีชื่อเสียงมาร่วมงานจากการสอบถามผู้เสียหาย พบว่าดาราที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ได้รับมอบอำนาจในการบริหารโดยตรง มี 5-6 คน กลุ่มสองเป็นกลุ่มพรีเซนเตอร์ที่บริษัทจ้างมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีจำนวนหลายคน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ และถูกเชิญเข้าไปร่วมอีเวนท์ของบริษัท โดยผู้เสียหายยืนยันว่าดารากลุ่มแรกเข้ามาบริหารจริง

ทนายเดชา เปิดเผยว่า จาการที่แซม ยุรนันท์ แถลงข่าวว่าตนเองไม่มีส่วนในการตัดสินใจของบริษัท ตนเองได้พูดคุยกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า การจะดำเนินคดีกับใครไม่ได้ดูแค่เพียงคำพูด แต่ต้องดูพฤติกรรมและหลักฐานที่รวบรวมมา ซึ่งดิจิทัลฟุตปริ้นจะเป็นตัวพิสูจน์ คดีนี้หากดูจากพฤติการณ์ กฌมีโอกาสสูงที่ดาราจะถูกดำเนินคดีแน่ๆ  แต่ยังไม่ขอระบุว่าเป็นใคร 

“คดีนี้ใครจะฟ้องกลับตนยินดีให้ฟ้อง ถ้าบริสุทธิ์จริงก็ตั้งโต๊ะแถลงตอบคำถามลูกค้าให้กระจ่าง ทั้งนี้ฝากไปถึงแม่ข่าย ขอให้เข้ามาเป็นพยานและแจ้งความทันที หากไม่มาก็จะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดซึ่งถือเป็นผู้ต้องหาแน่นอน” ทนายเดชา กล่าว

ส่วน น.ส.น้ำ (นามสมมุติ) เปิดเผยว่า เรื่องเกิดขึ้นเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ตนตัดสินใจร่วมลงทุนเพราะอยากจะประสบความสำเร็จเนื่องจากมีการชักชวนและกล่าวอ้างถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยมีวลีหลักของตัวเจ้าของหรือบอสใหญ่ว่า “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” จึงตัดสินใจเข้าร่วม และมีการชักชวนให้คนสนิทหรือคนในครอบครัวมาร่วมลงทุนด้วย แต่สินค้ากลับขายไม่ออกเนื่องจากสินค้าไม่ได้คุณภาพทำให้คนไม่กลับมาซื้อ เมื่อถามหาวิธีขายของกลับไม่ได้คำตอบ ทำให้ตนต้องเสียความสัมพันธ์กับคนสนิทและครอบครัว และธุรกิจดังกล่าวไม่ได้เน้นขายของแต่เน้นหาคนให้ร่วมลงทุน

#ข่าววันนี้ #ดิไอคอน #3บอสดารา #ปคบ #สยามรัฐออนไลน์ #สยามรัฐ #Theicon