น่าน รพ.น่านเตือน กินหมูดิบ ป่วย โรคหูดับ เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
นายแพทย์วสันต์ แก้ววี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เตือนภัยประชาชนชื่นชอบนิยมกินลาบหมูดิบ เสี่ยงเป็น “โรคไข้หูดับ” อันตรายถึงชีวิต ล่าสุดจังหวัดน่านมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นชายอายุ 65 ปี เข้ารักษาด้วยอากาแน่นท้อง ร้าวขึ้นอก มีถ่ายเหลวเป็นน้ำ จากการสอบสวนโรค ทราบว่าเมื่อ1-2 สัปดาห์ก่อนป่วย มีประวัติรับประทานลาบหมูดิบ จากนั้นมีอาการไม่สบาย และเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ไปรับการตรวจรักษาที่คลินิกแห่งหนึ่ง อาการไม่ทุเลา จึงมาตรวจรักษาที่รพ.น่าน จากนั้นผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ซึ่งเป็นสาเหตุของ “โรคไข้หูดับ” ได้รักษาตัวที่หอผู้ป่วยหนัก (ICU.) และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลน่าน ห่วงใยในสุขภาพของพี่น้องประชาชน จากกรณีดังกล่าวจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ซึ่งเป็นสาเหตุของ “โรคไข้หูดับ” ซึ่งพบอยู่ในทางเดินหายใจ และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรงกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการรับประทานเนื้อหมู หรือเลือดของหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ โดยอาการของโรค มักมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว และตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก เชื้อสามารถลุกลามไปยังบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ทําให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด สามารถทำให้เกิดการสูญเสียทางการได้ยิน จนถึงหูหนวกถาวร หรือเสียชีวิต
อย่างไรก็ตามการป้องกัน “โรคไข้หูดับ” มีวิธีและแนวทางในการป้องกัน ด้วยการต้องรับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส ไม่ควรรับประทานหมูดิบ ร่วมกับการดื่มสุรา ส่วนอาหารปิ้งย่าง ต้องมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” และเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู และสำหรับผู้ที่จะต้องสัมผัสหมูโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน ซึ่งหากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง