เมื่อวันที่ 8-9 ต.ค.67 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศไทย เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Ministerial-level meeting of the OECD Committee on Consumer Policy) ณ สำนักงาน OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 38 ประเทศ และประเทศภาคีเครือข่ายรวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 67 หน่วยงาน จำนวนประมาณ 300 คน เข้าร่วม

โดย นางสาวจิราพร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็น ‘ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลและการรักษาสิ่งแวดล้อม’ (Consumer at the center of the digital and green transitions) โดยได้นำเสนอถึงบทบาทสำคัญของผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคประสบปัญหาการขาดข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า ลดปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) พัฒนาสินค้าให้มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่สมเหตุสมผล และสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่เด็กและเยาวชน

“ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อเดือนเมษายน ปี 2567  และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะมนตรี OECD ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession discussion) กับไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทในเวทีโลกและยกระดับประเทศสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติ โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคระดับรัฐมนตรีครั้งแรก และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วม จึงถือเป็นโอกาสดีของไทยที่ได้แสดงให้ทั่วโลกได้เห็น ถึงศักยภาพการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และแสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยนำเอาประสบการณ์และแนวทางจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ และกลุ่มผู้บริโภคจากนานาประเทศ มาปรับใช้กับการกำหนดแนวทางการยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยได้ต่อไป” นางสาวจิราพร กล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงของรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศสมาชิกและภาคยานุวัติ ในการที่จะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนากระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริโภคสีเขียวที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศในการยกระดับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคของโลกให้มีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิและมีความรู้เท่าทันที่จะรับมือกับผู้ค้าที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในปัจจุบัน