เมื่อศักยภาพเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรม S-CURVE ได้รับความสนใจจากทั่วโลก  จึงทำให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จัดงาน Mini EEC Fair 2024 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำคัญที่จะใช้กลไกไมซ์ในการเชื่อมโยงนักลงทุนและผู้ประกอบการ ในการเปิดโอกาสใหม่ ๆ กับการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่จะมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย และต่อยอดการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

กระจายความเจริญและรายได้

โดย นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออก อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุน โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกจะนำไปสู่การกระจายความเจริญและรายได้สู่ชุมชนในภูมิภาค อีกทั้งยังตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ไมซ์ 20 ปี รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศด้วย

ซึ่งทางทีเส็บ ดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 มีงานไมซ์เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งงานไมซ์ในประเทศและงานไมซ์นานาชาติจำนวน 2,261 งาน สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกกว่า 10,979 ล้านบาท

สำหรับศักยภาพภาคตะวันออกนั้นมีความหลากหลายของอัตลักษณ์เชิงพื้นที่และสัมผัสกับประสบการณ์ตรงที่มีคุณค่าทั้งในด้านความพร้อมเชิงโครงสร้างในการจัดงานนไมซ์ รวมถึงการสัมผัสกับสินค้าและการใช้บริการไมซ์ในพื้นที่ อีกทั้งในปีนี้มีการจัดงาน Mini EEC Fair 2024 ซึ่งถือเป็นงานสำคัญในการนำเสนอข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  

โดย งาน Mini EEC Fair 2024 เป็นการใช้การจัดงานหรือไมซ์ ช่วยขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุน การจัดประชุมและนิทรรศการในภูมิภาค พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลไกไมซ์ในการเชื่อมโยงนักลงทุนและผู้ประกอบการ  มั่นใจว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการใช้อุตสาหกรรมไมซ์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่ EEC ทั้งใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมและ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ การผลักดันอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของการลงทุนครั้งใหม่

ด้าน ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวถึงงาน Mini EEC Fair 2024 ว่า เป็นเวทีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพื้นที่ EEC ในการรองรับการลงทุน ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุน และการให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่จูงใจ มั่นใจว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนครั้งใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด

 

ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ EEC ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักลงทุน ปัจจุบันการดึงการลงทุนจึงต้องวางแผนและรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะการลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยมีความพร้อมทั้งเรื่องของสิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ ข้อกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิติกส์ สาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อม ที่จะสามารถดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศได้

โดยสิ่งที่จะเตรียมพร้อม คือ เรื่องของบุคลากรในอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับดึงคนในชุมชนให้รับรู้ถึงอุตสาหกรรมที่เข้ามาในพื้นที่ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ เช่น การทำที่พัก งานบริการต่าง ๆ สถานที่ท่องเที่ยวในการทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตขึ้น เพื่อเชื่อมโยงนักลงทุน และชุมชนเข้าด้วยกัน

สำหรับนักลงทุนที่เข้ามาในเวลานี้มาจากประเทศจีน และญี่ปุ่นเป็นหลัก รองลงมาเป็น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ซึ่งได้เตรียมความพร้อมในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลักมีการกระจายให้กับมหาวิทยาลัย และวิทยาลัย มาเป็นซัพพลายเชน หรืออตอบสนองความต้องการของนักลงทุนต่างๆ  ที่จะเข้ามาในประเทศ

รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุน และการให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่จูงใจ ผ่านวิธีการเจรจาตามข้อเสนอการลงทุนของนักลงทุนเฉพาะราย โดยมีกรอบสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ อาทิ ด้านภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด เป็นเวลา 1 – 15 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกินร้อยละ 50 เป็นเวลา 1-10 ปี สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร เป็นต้น

 

ขณะที่ด้านที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว มอบ EEC Visa ให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ และบุคคลในอุปการะ ระยะเวลาสูงสุด 10 ปี รวมไปถึง การให้บริการภาครัฐครบวงจร หรือ EEC One Stop Service (EEC OSS) ซึ่งนักลงทุนสามารถรับบริการด้านอนุมัติ อนุญาต การยื่นคำขอที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านช่องทาง EEC OSS ได้ เป็นการลดขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น