"สมคิด" ยืนยันไม่กังวล  "ไพบูลย์" ปูดข่าวพรรคแกนนำล่มสลาย ชี้ทำปชช.สับสน เหน็บอยากเป็นนายกฯ ต้องหาเสียงให้ได้เกินครึ่งแล้วมาสู้กันในสภาฯ “แทนคุณ” ร้อง “วันนอร์” สอบมีคนแอบอ้างซื้อขายตำแหน่งในสภาฯ แถมหลอกลงทุนสูญนับล้าน ขณะที่ "ประธานสภาฯ" สั่งตรวจกล้องวงจรปิดหาข้อเท็จจริง “ชุดขาวข้าราชการ” แอบอ้างหาประโยชน์

                  

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ต.ค.67 นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ออกมาตอบโต้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาเปิดเผยว่า ในวันที่ 10 ต.ค. เวลา 07.00 น. จะเป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลอาจถึงขั้นล่มสลาย ว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย มี สส. ร่วมประชุมเกือบครบ มีเพียง สส.บางส่วนที่ติดภารกิจน้ำท่วม และสส.ก็ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว และพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีความวิตกกังวลถึงประเด็นดังกล่าว แถมขำด้วยซ้ำ ที่บอกว่าจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และยุบพรรคเพื่อไทย การให้ข่าวดังกล่าว ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เหมือนจะไปไล่นายกรัฐมนตรีออก ไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดเรื่องในวันพรุ่งนี้ 
    
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะเป็นเหตุให้ยุบพรรคเพื่อไทย นายสมคิด ระบุว่า เรื่องยุบพรรคเพื่อไทย ก็มีการยื่นมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งหากจะยุบพรรคจริง ทุกอย่างมีกระบวนการ ซึ่งเราไม่ได้กังวลว่าจะถูกยุบ เพราะมีประสบการณ์เรื่องนี้อยู่ 
    
ส่วนการระบุว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก อีกทั้งมีการพูดถึงชื่ออดีตผู้ว่าการธนาคารแแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ  นายสมคิด กล่าวยืนยันว่า เรามาเล่นกระบวนการของสภาดีกว่า เพราะสภาจะเป็นผู้กำหนด นายกรัฐมนตรีถูกเลือกโดยสภา แล้วจะมาเลือกจากคนนอกได้อย่างไร ตนไม่เชื่อหรอก เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ยังมีอยู่ ทั้งนายชัยเกษม นิติสิริ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคภูมิใจไทย มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปัจจุบันเป็นองคมนตรี ซึ่งจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหรืออะไรก็ตาม ก็ต้องอยู่ในกระบวนการ พร้อมกับย้ำว่า ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความสับสน รัฐบาลยังเดินหน้าเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังทำงานเหมือนเดิม
    
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ข่าวบางข่าวก็สร้างเอามันเข้าว่า เอาความสะใจเข้าว่า ไม่อยากให้คนในระดับเลขาธิการพรรคมาพูดแบบนี้ เราจะเล่นอะไร อยู่ในกระบวนการสภาดีที่สุด 
    
“ถ้าท่านอยากเป็นนายกฯ ก็ต้องหาเสียงให้เกินครึ่งมาล้มกัน มาว่ากันในสภา ซึ่งทุกอย่างต้องเอาสภาเป็นตัวตั้ง อย่าเพลิน เล่นกันเพลินเดี๋ยวก็ไม่มีสภาให้เล่น ต้องเอาสภาเป็นหลัก ใครได้เยอะก็ว่ากันตรงนั้น แต่วันนี้ยังไม่มีเหตุอะไรต้องเปลี่ยนนายกฯ” 
    
ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาฯ ขอให้ตรวจสอบกรณีบุคคลแอบอ้างว่าได้รับแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของสภาฯ และยังไปหลอกลวงบุคคลอื่นให้ลงทุนครั้งละแสนบาท และมีการแอบอ้างว่าสามารถฝากเข้ารับราชการได้ แต่ต้องจ่ายคนละ 1,200,000 บาท รวมถึงมีการหลอกลวงว่าจะลงทุนคลินิก สามารถดีลงานกับราชการได้ และยังได้รับแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีดูแลด้านโลจิสติกส์ ทำให้มีผู้เสียหายไปร้องทุกข์ในหลายที่เป็นคดีหมายเลขดำ อ 2515/2567 อีกทั้ง ยังมีข้อหาพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปีไปจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่ออนาจาร ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมชอบใส่ชุดขาวปกติ ชุดราชการทหาร แสดงตัวว่ามียศนาวาตรี ใช้ชีวิตหรูอยู่สบายบนความเดือดร้อนของประชาชน และบุคคลคนนี้ยังเข้าไปถ่ายรูปในห้องประชุมสุริยันอีกด้วย
    
“ผมจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ มาร้องเรียนนายวันมูหะมัดนอร์ เพื่อสั่งการหรือวินิจฉัยว่าบุคคลคนนี้ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อสังคม”นายแทนคุณ กล่าว
    
ด้านนายคัมภีร์ กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้ไปส่งประธานสภาฯ เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญ และผู้ที่ถูกกล่าวหายังมีการไปถ่ายรูปหน้าห้องประธานสภาฯอีก ซึ่งการรักษาความปลอดภัยอาจจะบกพร่องในช่วงนี้ อาจจะมีการหารือร่วมกับทางสมาชิกวุฒิสภาด้วย โดยจะต้องมีการตรวจสอบการนำรถเข้ามา รวมถึงการตรวจสอบบัตรที่จะเข้ามาสภาด้วย 
    
ที่ สปป.ลาว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลสวมใส่ชุดปกติขาว อ้างยศนาวาตรี และถ่ายรูปบริเวณป้ายสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎร นำไปแอบอ้างหาประโยชน์ว่า ตนเดินทางมาประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนจึงยังไม่ได้รับรายงาน  แต่หลังกลับไปคงต้องตรวจสอบว่ามีการแอบอ้างอย่างไร โดยปกติจะมีกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว คงจะรู้ว่าเกิดขึ้นตอนไหน และจะต้องไปตรวจสอบในรายละเอียด แต่ต้องยอมรับว่ารัฐสภาไม่เหมือนกับทำเนียบรัฐบาลหรือหน่วยราชการอื่น เพราะสภาเป็นที่ของประชาชน  ที่สามารถมาเยี่ยมชมและพบประธานสภาได้ เนื่องจากประธาน รองประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของปวงชน จึงต้องเปิดให้บุคคลภายนอก เข้ามาพบเพื่อยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ หรือเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  จึงมีประชาชนมาพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการเป็นจำนวนมาก 
    
“เราต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เรื่องของการแอบอ้าง ผมก็ไม่ทราบว่าจะไปแอบอ้างเรื่องอะไร  เนื่องจากสภาไม่มีผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรที่จะวางใจมาก ซึ่งก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับบุคคลหนึ่งใส่ชุดขาวมาที่สภา และอ้างกับตำรวจว่าลองสวมใส่ชุดขาวราชการดูซึ่งทราบว่าบุคคลดังกล่าวถูกจับมาหลายครั้งแล้ว  ซึ่งอาจจะเป็นกรณีนี้ และเมื่อดูจากภาพ เดินอยู่หน้าห้องประธาน หรือหน้าบัลลังก์ก็เข้าไม่ได้อยู่แล้ว คงเป็นกรณีที่ตอนเดินเข้ามาที่เดินเข้ามาในสภา ซึ่งสภาคนเยอะและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ก็ไม่ทราบว่าเป็นข้าราชการจากที่ไหนก็ข้าราชการมาชี้แจง และกรณีนี้สภาตามมาพอสมควรแล้วจนมาจับได้ที่สภา ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะ มาด้วยความไม่สุจริตหรือสติไม่ดี เพราะยากที่จะมีคนใส่ชุดขาวมาทำเช่นนี้”ประธานรัฐสภา กล่าว
    
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า  หลังจากนี้จะไปดูว่ามีสิ่งใดที่จะต้องกลับไปแก้ไข ในมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย  แต่การจะไปเข้มงวดการเข้าออกมากจนเกินไปก็จะกระทบกับประชาชนที่จะมาหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่บางครั้งที่บางชั้นโดยปกติก็ไม่ได้อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปแล้วเข้าไปยกเว้นมีการมีการขอมาเป็นกรณีพิเศษและมีและมีบัตรให้สามารถผ่านได้
    
เมื่อถามว่าจะถึงขั้นยกระดับการรักษาความปลอดภัยหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็ต้องไปปรึกษาหารือกันเรื่องการดูเรื่องการดูแลสถานที่และความปลอดภัยนั้นมอบหมายให้นายนายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งไปดูแล ก็ต้องไปพูดคุยกัน เพื่อออกมาตรการ แต่กระชับแต่จะเข้มงวดเหมือนสถานที่สถานก็มียากส่วนราชการอื่นก็คงยาก เพราะรัฐสภา เป็นสถานที่ที่อยากให้ประชาชนแสดงการแสดงความคิดเห็น และการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการแม้กระทั่งประธานสภาตนก็ไม่ขัดข้องหากแจ้งล่วงหน้าที่จะพบ
    
ที่ศูนย์การประชุม NCC ณ นครหลวงเวียงจันทน์  สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคี (pull-aside) กับ นายลอว์เรนซ์ หว่อง (H.E. Mr. Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 เพื่อสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญในทุกมิติของทั้งสองประเทศ
     
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ช่วงครึ่งปีหลังนี้ (2567) โดยประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนสำหรับการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิค เนื้อหมู ส่วนในด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และปัญหาภัยธรรมชาติ
     
นายจิรายุ ยังกล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียืนยันกับทางสิงคโปร์ว่า พร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีสิงคโปร์ ในห้วงการเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในปีหน้าด้วย