บพข. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และเทศบาลนครเกาะสมุย ผนึกพลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ของเกาะสมุย เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism)
แผนงานการวิจัยการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และเทศบาลนครเกาะสมุย จัดสัมมนาเชิงวิชาการ และแผนปฏิบัติการท่องเที่ยวยั่งยืน เสริมสร้างความพร้อมและขีดความสามารถของธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล โรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจท่องเที่ยวทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) เกาะสมุย มุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) ณ วิทยาลัยสหวิทยาการ เกาะสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.กล่าวถึงการดำเนินงานของ บพข. และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนชั้นนำของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กลุ่มเกาะในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน วิถีสายน้ำ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่พร้อมให้บริการแล้วมากกว่า 183 เส้นทางในพื้นที่ 77 จังหวัด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 30 มีโครงการริเริ่มเครือข่ายองค์กรจัดการจุดหมายปลายทางที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวนานาชาติ รวมทั้งการทำเส้นทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway) ภาคการท่องเที่ยว ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัย อบก. สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้บรรลุผลในช่วงปี 2568-2570
รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการชุดแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. และ ดร.สิทธิพร เพ็งสกุล มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมนำเสนอการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) และการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวก (Nature Positive Tourism) พร้อมทั้งแนะนำมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ซึ่งประยุกต์จากมาตรฐานการท่องเที่ยวขององค์กรต่าง ๆ เช่น มาตรฐานสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC), มาตรฐานกรีนโกลบ (Green Globe), มาตรฐาน ECO Certification Program ของประเทศออสเตรเลีย, มาตรฐาน ISO, มาตรฐานกรีนฟินส์ (Green Fins), มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย โดยได้พัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับ 4 กิจกรรม ได้แก่ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก แคนู/คายัค และเจ็ตสกี ซึ่งมาตรฐานมี 6 องค์ประกอบ 33 เกณฑ์ พร้อมตัวชี้วัด สำหรับองค์ประกอบ มีดังนี้ 1) การบริหารจัดการที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ; 2) การใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ-สังคมอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น; 3) การใช้ประโยชน์ทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว; 4) การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม; 5) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และภูมิทัศน์ และ 6) การบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยงทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชุมพร และตราด ได้ผ่านการฝึกอบรมมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566-2567 นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะการใช้งาน TOOLKIT มาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ซึ่งออกแบบสำหรับการฝึกอบรมออนไลน์ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและผู้สนใจอีกด้วย
คุณศิราณี อนันตเมฆ ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เกาะสุมย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเสนอหัวข้อการพัฒนาแนวคิดเชิงออกแบบในการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุยที่เชื่อมโยงกับวิถีชุมชน อาหาร วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการฟื้นฟูสุขภาวะด้วยนิเวศธรรมชาติ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งกรณีศึกษาต้นแบบ โดยหลักสำคัญของแนวคิดนี้ คือ 1) การเชื่อมโยงกับวิถีชุมชน: การท่องเที่ยวที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นช่วยสร้างรายได้และรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน; 2) การเน้นอาหารและวัฒนธรรมท้องถิ่น: อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว การพัฒนาแนวคิดการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับอาหารท้องถิ่นไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการอาหาร แต่ยังช่วยรักษาภูมิปัญญาการทำอาหารท้องถิ่นอีกด้วย; 3) การฟื้นฟูสุขภาวะด้วยนิเวศธรรมชาติ: การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเกาะสมุย เช่น ชายหาด น้ำตก ป่าไม้ และทะเล ในการพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เน้นการฟื้นฟูสุขภาวะ เช่น โยคะ การนวดแผนไทย และสปาธรรมชาติ; 4) กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์: การส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น การจัดงานศิลปะ งานฝีมือ การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือการเรียนรู้ศิลปะไทย และ 5) กรณีศึกษาต้นแบบ: การนำแนวคิดเหล่านี้ไปดำเนินการในหลายโครงการ เช่น การจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ป่าชายเลน การจัดตลาดชุมชนที่นำเสนออาหารและงานฝีมือจากชาวบ้าน การฟื้นฟูศูนย์สปาธรรมชาติที่ใช้สมุนไพรและภูมิปัญญาชาวบ้าน
งานสัมมนาเชิงวิชาการฯ ครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แก่ คุณรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย กล่าวถึงพลังท้องถิ่นของเทศบาลนครเกาะสมุยที่สนับสนุนการพัฒนาเกาะอย่างยั่งยืน คุณตวงรัชต์ นภาลัย ผู้ปฏิบัติการอาวุโส สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคใต้ (สสปน.) นำเสนอหัวข้อ MICE กับ Net Zero Tourism คุณชนัญทิพย์ ธนภัทธิ์รานันท์ นายกสมาคมสปาสมุย ให้แนวคิดเกี่ยวกับการยกระดับคุณค่าใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเกาะสมุยที่เชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติและภูมิปัญญา คุณเรืองนาม ใจกว้าง นายกสมาคมโรงแรมไทย ภาคใต้ฝั่งตะวันออก กล่าวถึงการผนึกกำลังความร่วมมือของเครือข่ายโรงแรมในการพัฒนาการให้บริการที่ได้มาตรฐานบนฐานความรับผิดขอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คุณนัดดาเพ็ญ ทุมมานนท์ คณะกรรมการมูลนิธิเกาะสีเขียว นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมรูปแบบของกิจกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมเกาะสมุยด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ คุณรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องที่ยวเกาะสมุย เสนอกรอบแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในการริเริ่มและพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะสมุยโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพื้นที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายเกี่ยวกับศักยภาพ ความพร้อมและขีดความสามารถของเครือข่ายท่องเที่ยวเกาะสมุยอย่างยั่งยืน และกลไกการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนากลใกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเกาะสมุยอย่างยั่งยืนมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจโรงแรม/รีสอร์ท/ที่พัก ผู้นำชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มเครือข่ายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาวะและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน กลุ่มการท่องเที่ยววิถีชุมชน กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนและความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและหมู่เกาะ กลุ่มกิจกรรมกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ศิลปะ ดนตรี และเทศกาล กลุ่มธุรกิจให้บริการด้านการเดินทางและคมนาคมขนส่ง และกลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ขยะ น้ำเสียและสิ่งปฏิกูล การสัมมนาเชิงวิชาการฯ ครั้งนี้ ได้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอน ผ่านแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” อีกด้วย