วันที่ 9 ต.ค.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สี่ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า ระยะเวลา 270 วัน จำนวน 4 โครงการ เนื่องจากสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครได้ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อดำเนินการเช่ารถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 470 คัน วงเงินรวม 241 ล้านบาท เพื่อเช่ารถขยะทดแทนรถเดิมที่จะเริ่มหมดสัญญาช่วงปลายปี 2567 ตามระยะเวลาของสัญญาแต่ละฉบับ แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ การกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งโครงการ มีการเร่งรีบดำเนินการ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้างภายหลัง จึงขอให้ฝ่ายบริหาร กทม.มีการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 กทม.เริ่มของบประมาณช่วงต้นปี 2566 เพื่อจัดเช่ารถขยะทดแทนของเดิมที่จะหมดสัญญาปลายปี 2567 ตนในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีในขณะนั้น จึงสอบถามถึงความจำเป็นเร่งด่วน ได้รับคำตอบจากสำนักสิ่งแวดล้อมว่า ต้องใช้เวลาในการจัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งการจัดเช่าไม่ได้ระบุเอกสารว่าจะใช้รถพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมัน ตนจึงได้สอบถามความชัดเจนด้วยวาจา ได้รับคำตอบว่า เป็นการจัดเช่ารถพลังงานน้ำมันหรือเครื่องสันดาป

 

ประเด็นที่ 2 ช่วงกลางปี 2566 กทม.ได้เขียนโครงการจัดเช่ารถขยะน้ำมัน แต่ผู้บริหารมีนโยบายเปลี่ยนไปใช้รถระบบไฟฟ้า ข้าราชการผู้ทำหน้าที่เขียนโครงการจึงต้องปรับแก้คุณลักษณะในการจัดเช่า (TOR) จากเดิมระบุเช่ารถพลังงานน้ำมัน เปลี่ยนเป็น เปิดโอกาสประกวดราคาจัดเช่าทั้งระบบไฟฟ้าและน้ำมัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดทำ TOR เนื่องจากคณะกรรมการร่าง TOR ไม่คุ้นเคยกับการเขียนโครงการจัดเช่ารถระบบไฟฟ้า ตนจึงให้ข้อสังเกตว่า การประกวดราคาทั้งสองแบบ อาจทำให้เกิดการร้องเรียนจากทั้งจากฝ่ายประกวดราคารถขยะไฟฟ้า และฝ่ายประกวดราคารถขยะน้ำมัน กทม.จึงได้สอบถามกรมบัญชีกลาง ได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำ TOR ระบุเป็นการจัดเช่ารถขยะไฟฟ้าโดยตรง

 

ประเด็นที่ 3 เมื่อตั้งเป้าจัดเช่ารถขยะไฟฟ้าแล้ว เนื่องจาก กทม.ไม่เคยใช้รถขยะไฟฟ้า จึงมีเสียงสะท้อนแสดงความกังวลต่าง ๆ เช่น เรื่องการใช้งานได้จริง สถานีชาร์จ ขนาดรถ น้ำหนักรถ การบรรจุขยะไม่น้อยกว่าเดิม จึงมีการชี้แจงจนถึงเดือน เม.ย.67 โดยสำนักสิ่งแวดล้อมยืนยันว่า สามารถจัดหารถขยะไฟฟ้าได้ทัน (30 ก.ย.67 หมดสัญญาแรก) และมีคุณสมบัติรถขยะไฟฟ้าไม่น้อยไปกว่ารถขยะน้ำมันแบบเดิม แต่ตนเห็นว่ายังไม่มีการทดสอบหรือทดลองใช้จนแน่ใจมากพอ จึงมีความกังวลว่า อาจเกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพในระยะยาว เช่น ความทนทานต่อสภาพอากาศ และน้ำท่วม เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 4 เรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ของ กทม. และประชาชนให้ความสนใจ จึงต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กรอบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะ มาตรา 4,6,55,56,93,96 ว่าด้วย ขอบเขตการใช้งบประมาณ การปฏิบัติ และการทำสัญญา ในการจัดซื้อจัดจ้าง

 

"ทุกคนห็นด้วยในการใช้รถขยะไฟฟ้า แต่ปัจจุบันการจัดเช่ารถขยะไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ มีรถที่หมดสัญญาแรกไปแล้ว 102 คัน เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 และจะเริ่มมีรถ 5 ตันและขนาดอื่นหมดสัญญาต่อมาอีกหลายคัน ปัญหาไม่มีรถเก็บขนขยะในกรุงเทพฯ จะเกิดขึ้น จึงอยากให้สำนักสิ่งแวดล้อมรีบเร่งจัดหารถขยะมาทดแทน หรือหากจัดหารถขยะไฟฟ้าไม่ทันจริง ๆ กทม.จะพิจารณาใช้รถขยะแบบน้ำมันไปก่อนหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาขยะล้น และเพื่อให้มีเวลาจัดหารถขยะไฟฟ้าได้อย่างถูกต้องต่อไป" นายสุทธิชัย กล่าว

 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า การจัดหารถขยะไฟฟ้าล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมาติดข้อท้วงติงและข้อสังเกตต่าง ๆ จากหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม กทม.จะนำข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงแก้ไข และชี้แจงต่อไป