ศปช. ออกเตือน ปชช. ภาคใต้ตอนบน เฝ้าระวังฝนตกหนัก สัปดาห์นี้ ส่วนการรับภาคกลางตอนล่างด้านกรมชลฯ เตรียมเครื่องจักร - เครื่องมือ รวม 1,100 หน่วย บริเวณพื้นที่เสี่ยงพร้อมช่วยเหลือ เผยแนวโน้มน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง เทียบตัวเลขยังห่างปี 54 มาก ส่วนแผนการฟื้นฟูพื้น จ.เชียงใหม่ เชียงรายคืบหน้า
วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) เวลา 13 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันอยู่ที่ 2,318 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยในส่วนของการระบายน้ำยังคงที่ 2,199 ลบ.ม./วินาที
“การระบายน้ำขณะนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2554 ระบายน้ำอยู่ที่ 3,703 ลบ.ม./วินาที จำนวนระบายน้ำ ยังไม่มีความน่ากังวลใจ อีกทั้งในสัปดาห์นี้ ในภาคเหนือ และ ภาคกลางมีปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ศปช.ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วม เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน โดยส่วนราชการที่ บริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ รายงานว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 13 – 24 ต.ค. นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมในพื้นที่กรุงเทพ – นนทบุรี ได้มีการเตรียมการป้องกันพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันการเอ่อล้นเข้าพื้นที่บ้านเรือนประชาชน “
นายจิรายุ กล่าวถึงสถาณการณ์ ในภาคใต้ตอนบนว่า ใน 1-2 วันนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณฝนอยู่ที่ 100 – 140 มม. และหากมีการตกต่อเนื่อง ปริมาณฝนเกิน 200 มม. สะสมในพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ ขอให้ประชาชน ฟังรายงานของ ศปช. และ หน่วยงานราชการอื่นๆ อย่างใกล้ชิด
ขณะที่ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังในบริเวณภาคใต้ในช่วงวันนี้ พุธที่ 9 ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม นี้ โดยในพื้นที่ภาคใต้ ได้เตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำ จำนวน 552 เครื่อง บริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีและสั่งการเตรียมเครื่องจักร - เครื่องมือ จำนวนมาก อาทิเครื่องสูบน้ำ 552 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 227 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 44 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ 277 หน่วย
“ในส่วนของ จ.ยะลา เมื่อวานนี้ (8 ต.ค. 67) ได้รับการแจ้งเหตุดินถล่ม 5 จุด บริเวณเส้นทางเข้าสวนดอกไม้เมืองหนาว บ้านปิยะมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งผลให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งนี้ แขวงทางหลวงชนบทยะลาได้นำเครื่องจักรกลเข้าเปิดเส้นทางได้ทุกจุดแล้ว รถทุกชนิดสามารถสัญจรได้ กรมทรัพยากรธรณีได้มีการประกาศเฝ้าระวังและมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่า – ดินถล่ม ช่วงวันที่ 9 – 11 ต.ค. 67 ในพื้นที่ สวนผึ้ง บ้านคา จ.ราชบุรี , หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี , หัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ , เบตง ธารโต ยะหา จ.ยะลา” นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มถึงการฟื้นฟูปัญหาเส้นทางที่เสียหาย 10 เส้นทางในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตาก น่าน หนองคาย สุโขทัยและกรมการขนส่งทางบก รวมถึงสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 แห่งที่ 3 และรถไฟในเส้นทางสายเหนือกรุงเทพ-เชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการแล้ว เมื่อวานนี้ (8 ตุลาคม 2567 ) ในส่วนของการจราจรใน จ.เชียงใหม่ ได้มีการเปิดบริการภาพรวมหลายจุดแล้ว และในบริเวณพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังได้มีการติดป้ายเเจ้งเตือน ทางเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ในส่วนของดินสไลด์ ดินถล่ม พื้นที่ไหนที่มีดินสไลด์ ดินถล่มซ้ำซากจะมีการเอาอุปกรณ์ไปประจำพื้นที่ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่จะเข้าไปเคลียทาง เพื่อช่วยเหลือได้ทันที และได้ทำฐานข้อมูลจุดเสี่ยงดินโคลนถล่ม เพื่อประสานให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนต่อไป สำหรับการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีความคืบหน้ามาก เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67 ภาพรวมดำเนินการแล้ว 63% จากบ้านเรือนประชาชนทั้งสิ้น 753 หลัง ฟื้นฟูแล้ว 478 หลัง คาดเสร็จสิ้นก่อนปลายเดือน ต.ค. นี้