วันที่ 9 ต.ค.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำยังไม่น่าห่วง เหตุการณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบ กทม.แน่นอน ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมที่เห็นใน จ.นนทบุรีและ จ.พระนครศรีอยุธยานั้น เป็นพื้นที่นอกเขื่อนกั้นน้ำ

 

ในส่วนของ กทม.มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมความยาว 88 กิโลเมตร ความสูง 3.5 เมตร น้ำที่ปล่อยลงเจ้าพระยา ยังไม่กระทบกับ กทม. ยังห่างจากบริเวณเหนือคันกั้นน้ำ 1 เมตร แต่เพื่อความไม่ประมาท จึงต้องตรวจตราความมั่นคงแข็งแรงเขื่อนป้องกันน้ำท่วมตลอดแนวทั้ง 88 กม. รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังฝนตกในพื้นที่ ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของประตูระบายน้ำ (ปตร.) ทุกแห่งด้วย ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล 

 

ส่วนชุมชนที่อยู่นอกคันกันน้ำ จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย 1.ซอยสีคาม (ซอยสามเสน 19 ช่วงปลาย) เขตดุสิต 2.ราชผาทับทิมร่วมใจ (เชิงสะพานกรุงธน) เขตดุสิต 3.ปลายซอยมิตตาคาม (สามเสน 13 ช่วงปลาย) เขตดุสิต 4.เทวราชกุญชร เขตดุสิต 5.ท่าวัง เขตพระนคร 6.ท่าเตียน เขตพระนคร 7.วัดปทุมคงคา (ท่าน้ำสวัสดี) เขตสัมพันธวงศ์ 8.ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ 9.มาตานุสรณ์ เขตบางคอแหลม 10.หลัง ร.พ.เจริญกรุงฯ เขตบางคอแหลม

 

11.วัดอินทร์บรรจง เขตบางคอแหลม 12.วัดบางโคล่นอก เขตบางคอแหลม 13.โรงสี ถนนพระราม 3 เขตยานนาวา 14.ดุสิต นิมิตรใหม่ เขตบางกอกน้อย 15.เจริญนคร ซอย 29/2 เขตคลองสาน และ 16.ช่างนาค-สะพานยาว เขตคลองสาน ประชาชนในชุมชนนอกคันกั้นน้ำ มีชีวิตที่คุ้นเคยกับน้ำขึ้นน้ำลงอยู่แล้ว แต่กทม.ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ โดยให้สำนักงานเขตส่งกระสอบทรายให้ชุมชนชนตามแนวฟันหลอหรือจุดที่อาจจะมีแนวรั่วซึม พร้อมทั้งทำสะพานไม้ และแจกจ่ายยาสามัญที่จำเป็น จึงขออย่าตื่นตระหนก 

 

ส่วนจุดฟันหลอก่อนหน้านี้มี 120 จุด ปัจจุบัน ก่อสร้างเขื่อนถาวรได้แล้ว 64 จุด จำนวนที่เหลืออยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน รวมทั้งได้จัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว รวมถึงช่องเปิดท่าเรือต่าง ๆ ได้จัดเรียงกระสอบทราย ความสูง +2.40 ถึง +2.70 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) ความยาว 4.35 กิโลเมตร (กม.) โดยใช้กระสอบทราย 248,300 ใบ