ครม.เคาะปรับเกณฑ์เงินเยียวยาน้ำท่วมทั่วประเทศครอบครัวละ 9 พัน นฤมลจ่อของบกลาง 3.2 พันล้านฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลด  ขณะที่ ชาวลำพูนอ่วม! น้ำท่วม กรมชลฯเร่งระดมเครื่องสูบน้ำระบายลงแม่น้ำปิง
 
     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ต.ค.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องการปรับเกณฑ์การเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมากำหนดกรอบจ่ายครัวเรือนละ 5,000  บาท  7,000 บาท  และ 9,000 บาท ต่อครัวเรือน แต่ครม.เห็นว่าพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีทั้งสิ้น 57 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้นประชาชนทุกคนมีสิทธิ์รับเงินเกณฑ์เดียวคือครัวเรือนละ 9,000 บาท จึงขอให้ท่านติดตามตรวจสอบจากจังหวัดของท่าน ซึ่งไม่รวมกรณีบ้านพังทั้งหลัง บาดเจ็บ ล้มตาย และพืชผลทางการเกษตรเสียหาย
 

   นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย บอกต้องประชุมทุกวันเพื่อจะได้ออกประกาศเตือนพี่น้องประชาชน ขณะที่กระทรวงกลาโหมรายงานว่าที่ จ.เชียงรายและ จ. เชียงใหม่ ได้ขนย้ายสัตว์ต่างๆออกจากพื้นที่แล้ว และมีรายงานว่ามีช้างล้ม 2 เชือก โดยจะใช้วิธีการเผา นอกจากนี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมสร้าง และนายกฯยังขอให้มีโรงครัวไว้ถึงสิ้นเดือน แต่หากถึงเวลายังมีพี่น้องประสบภัยยังต้องการอาหารก็ให้คงโรงครัวไว้ 
 

   น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตร กรณีอนุมัติเงินเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ สำหรับผู้ประสบอุทกภัยว่า สามารถจ่ายได้เลยทันที เพราะมีการอนุมัติแล้ว เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดของประชาชนทั้งส่วนที่ได้รับไปแล้ว 5,000 บาท ก็จะได้รับเพิ่มเติมให้ครบเป็น 9,000 บาท คาดว่าจะมีจำนวนครอบครัวเพิ่มเติมอีกพอสมควร แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ จึงไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ ยืนยันว่า อยู่ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่พอ อาจจะมีการขอเพิ่มเติม ขอให้ประชาชนไม่ต้องกลัวว่าจะได้ช้า ได้หลัง เราจะพยายามทำให้ครอบคลุมทุกบ้าน
   

 ด้าน นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใน จ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ ว่า มีมาตรการอยู่แล้ว และมีแผนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะการเยียวยาปล่อยกู้ซอฟต์โลนต่างๆ จะนำส่งเข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า
   

 เช่นเดียวกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอของบประมาณฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยว่า เรื่องนี้จะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เงินเยียวยาที่จะเป็นงบประมาณของทางจังหวัด แบ่งประเภทเป็นพืชไร่ พืชสวน ประมง และปศุสัตว์ ส่วนนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นผู้ประเมิน และประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เงินเยียวยาออกโดยเร็วที่สุด 
 

   นางนฤมล กล่าวว่า อีกส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำเสนอเพื่อของบกลาง ซึ่งเป็นการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยจะของบกลางวงเงิน 3,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง แต่วันนี้คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ทัน เนื่องจากต้องไปผ่านที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ก่อน ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ได้ผ่านอนุกรรมศปช. แล้ว แล้ววันเดียวกันนี้ จะมีการประชุม ศปช. อีกครั้งในช่วงบ่าย หากผ่านการเห็นชอบก็จะเข้าสู่การประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า
 

   ส่วน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ทาง พม.ที่เชียงใหม่ มีศูนย์พักพิงชั่วคราว 53 แห่ง โดยได้ระดมเจ้าหน้าที่ พม. อยู่ 3 จุดคือ ศูนย์ปฏิบัติการเชียงใหม่ ศูนย์พักพิงชุมชนเอื้ออาทรที่สันผีเสื้อ และศูนย์พักพิงโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ พร้อมกับมีส่วนร่วมตั้งครัวกลางที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ และจัดถุงยังชีพให้ประชาชนพร้อมกับช่วยติดตามญาติของคุณยายวัย 71 ปี ที่เสียชีวิต ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนของกระทรวง พม. ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ พม. ได้รับผลกระทบถึง 63 คน จาก 12 หน่วยงาน โดย 4 หน่วยงานที่เชียงใหม่ถูกน้ำท่วมไปแล้วคือ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนที่สูง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2 แห่ง และศูนย์บริการผู้สูงอายุ โดยถูกน้ำท่วม 1-1.2 เมตร
   

 นายวราวุธ ยังได้ฝากถึงประชาชนและข้าราชการ ในอนาคตหาก คาดว่าจะมีน้ำมากขอให้เตรียมถุงโกแบค (go bag) หรือถุงฉุกเฉิน แบบในภาพยนตร์ ที่มีอาหารแห้ง ยาสามัญ ไฟฉาย สิ่งของต่างๆที่จำเป็นในช่วงฉุกเฉิน เงินสด และเอกสารทางราชการ ถ้ามีเหตุฉุกเฉินก็สามารถคว้าถุงไปได้ ส่วนการเร่งเบิกจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมในส่วนของกระทรวง พม. ที่ให้เบิกจ่ายภายในสามวันได้มอบเงินไปแล้วกว่า 200 คน วงเงินกว่า 3.8 ล้านบาท และอนุญาตให้ลดเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสมาชิกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่ผ่อนชำระบ้านเป็นเวลา 3 เดือน
   

 วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูน หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นไหลไปตามเส้นทางต้นยาง - เลียบรางรถไฟจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เข้าสู่พื้นที่ จ.ลำพูน ส่งผลให้ ต.อุโมงค์ ต.หนองช้างคืน ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน มีน้ำท่วมขัง บางจุดสูงมากกว่า 1 เมตร สำนักงานชลประทานที่ 1 โดยโครงการชลประทานลำพูน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต่าง ๆ ในตัวเมืองลำพูน อาทิ ปตร.ปิงห่าง ปตร.ร่องกาศ ปตร.ปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน
 

   สำหรับปริมาณน้ำที่เข้ามาในพื้นที่ จ.ลำพูน เป็นปริมาณน้ำในระดับสูงสุดแล้ว โดยหลังจากนี้ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัว คาดว่าอีก 1-2 วัน ระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลง โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิง มีแนวโน้มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักและไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์ในภาพรวมจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
 

   ส่วนแม่น้ำกวงในเขตจ.ลำพูน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่เป็นพื้นที่ให้น้ำไหลผ่านลงไปสู่แม่น้ำปิง ซึ่งจะรักษาระดับน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในขณะนี้จังหวัดลำพูน มีเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงานทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่เตรียมพร้อมไว้เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำปิงโดยเร็วที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล