ท่าน้ำนนท์น้ำทะเลหนุน เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต เตรียมเฝ้าระวังน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มระดับ
วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่หอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ภายหลังการเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเหนือที่ไหลลงมา ประกอบกับภาวะน้ำทะเลหนุนในช่วงเช้า น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรีซึ่งระดับน้ำได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว
นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นถึง 2 เมตร 32 เซนติเมตร และคาดว่าในช่วงเวลาต่อไป เขื่อนเจ้าพระยาจะยังคงปล่อยน้ำในอัตรา 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับการเพิ่มของน้ำทะเล ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยกตัวสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลาอีกประมาณ 10 วัน ข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์ชี้ว่าปริมาณน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางเทศบาลได้เตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ โดยได้จัดทำสะพานทางเดินเท้าให้กับประชาชนในพื้นที่ที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหมู่ 3 ท่าทราย วัดน้อย วัดแจ้ง ศาลเจ้าวัดปากน้ำ และตลาดขวัญ นอกจากนี้ จุดอื่นๆ เช่น วัดเขมา และวัดนครอินทร์ ก็ได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์น้ำท่วมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางพื้นที่ที่ยังสามารถใช้รถเข้าออกได้ไม่จำเป็นต้องใช้สะพานเดินเท้าในขณะนี้ ส่วนพื้นที่ภายในที่มีการป้องกันน้ำท่วมอย่างครบถ้วนแล้ว ทางเทศบาลได้จัดการป้องกันไว้เรียบร้อย จุดที่ยังมีความเสี่ยงคือบริเวณที่อยู่ใกล้กับแผงกั้นน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศบาลได้ดำเนินการสร้างสะพานทางเดินเท้าเพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่ประสบการณ์จากน้ำท่วมครั้งก่อนชี้ให้เห็นว่าหากระดับน้ำสูงขึ้นถึง 2 เมตร 50 เซนติเมตร หรือ 2 เมตร 60 เซนติเมตร ถนนนนทบุรี 1 จะเริ่มมีน้ำเอ่อล้นขึ้นมาจากไหล่ทาง ทางเทศบาลได้เตรียมแผนป้องกันโดยเสริมความแข็งแกร่งของไหล่ทาง ถนนนนทบุรี 1 รวมถึงบริเวณพระราม 5 และบริเวณนครอินทร์ โดยเตรียมหินคลุกไว้สำหรับการป้องกันน้ำท่วมในจุดที่เสี่ยง
นอกจากนี้ คนขับเรือด่วนเจ้าพระยาได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากเรือไฟฟ้าซึ่งคลื่นจากเรือไฟฟ้ามีขนาดใหญ่กว่าเรือด่วนทั่วไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคลื่นที่เกิดขึ้นมาจากเรือด่วนเจ้าพระยา แม้ว่าเรือด่วนเจ้าพระยาจะไม่เร่งเครื่องในช่วงน้ำสูง แต่ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยากลับคิดว่าคลื่นที่มากับน้ำมาจากเรือด่วน ทั้งที่จริงแล้วเป็นคลื่นจากเรือไฟฟ้า