เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับจังหวัดที่ประสบภัยในการเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดมีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเข้ามาเพิ่มขึ้นใน 54 จังหวัด รวม 137,562 ครัวเรือน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำส่งข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันจากจังหวัดให้ธนาคารออมสินแล้ว 6 ครั้ง รวม 18,897 ครัวเรือน เป็นเงิน 94,615,000 บาท และธนาคารออมสินได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยสำเร็จแล้วจำนวน 5 ครั้ง (เมื่อวันที่ 27 30 ก.ย.และวันที่ 2, 4 และ 8 ต.ค.) รวม 9,756 ครัวเรือน เป็นเงิน 48,832,000 บาท โดยจะทำการโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 6 ของ จ.เชียงราย 7,919 ครัวเรือน ภายในวันที่ 9 ต.ค.เป็นเงิน 39,644,000 บาท
“ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 จากเดิมที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัยและให้อัตราการช่วยเหลืออยู่ที่ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท ตามลำดับ โดยจะปรับใหม่เป็นทั้งกรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และกรณีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน ให้ได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราเท่ากันที่ 9,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ผู้ประสบภัยจะได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ความปกติโดยเร็ว และเป็นไปตามนโยบายของนายกฯ ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้วยหลักเกณฑ์สูงสุด โดย ปภ.จะเริ่มนำส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินตั้งแต่ครั้งที่ 7 เป็นต้นไป”