มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม Academy เสริมศักยภาพให้ผู้เข้ารอบ 30 คน จากโครงการคัดเลือก "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ "เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย" โดยเน้นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้แทนมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และผู้จัดการทั่วไป บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด เผยว่า  โครงการ "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ภายใต้มูลนิธิร่วมด้วยช่ว่ยกันสำนึกรักบ้านเกิด มีเป้าหมายหลักเพื่อยกย่องเกษตรกรต้นแบบที่มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้จัดกิจกรรม Academy เสริมศักยภาพให้ผู้เข้ารอบ 30 คน จากโครงการคัดเลือก "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ "เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย"

โดยกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นเสริมศักยภาพเกษตรกรใน 4 มิติสำคัญ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม, การนำเทคโนโลยีมาเสริมอาชีพเกษตรกร, การยกระดับมาตรฐานการผลิต และการสร้างแบรนด์สินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ในปี 2024

ภายในงานนี้มี คุณปุณยนุช วงศธรวรกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแสดงความยินดีกับเกษตรกรผู้เข้ารอบ 30 คนของโครงการฯ และได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วนมามอบความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยในมิติใหม่ ดังนี้

คุณคงพัฒน์ ประสารทอง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Farm ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และ คุณศจีวรรณ หิรัญสถิตย์พร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Farm ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันบรรยายในหัวข้อ พัฒนาทักษะ Digital ให้ Smart Farmer โดยนำเสนอการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างโอกาสในธุรกิจการเกษตร ผ่านโซลูชันการเกษตรอัจฉริยะของทรู ฟาร์ม (True Farm) ที่ครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจเกษตร โดยใช้เทคโนโลยี 5G ในการเชื่อมโยงข้อมูลและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น

คุณธีรพัชส ประสานสารกิจ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร กล่าวถึง การทำเกษตรอินทรีย์โดยผสมผสานกับแนวคิดเกษตรอัจฉริยะ  โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์ม พร้อมเชื่อมโยงแนวคิดเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูดินและการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เพื่อสร้างระบบเกษตรที่ยั่งยืน

อาจารย์วรเกษมสันต์ สิริศุภรัชต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยชี้ให้เห็นว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปไม่เพียงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้เข้าถึงผู้บริโภคใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางการตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล

อาจารย์ภูสิษฐ์ จาตุรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ แบ่งปันเคล็ดลับการสร้างมูลค่าสินค้าให้ชนะใจด้วยบรรจุภัณฑ์ Packaging Trend 2024 ซึ่งบรรจุภัณฑ์ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ผ่านการออกแบบที่ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคและตอบโจทย์แบรนด์

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้ ต่างมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและสร้างสรรค์เกษตรกรรมที่ยั่งยืนในประเทศไทยเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเกษตรกรและผู้บริโภคต่อไป