วันที่ 8 ต.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ศรภ. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ระบุว่า...อิสรภาพบนเส้นด้ายของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สภาพทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันกล่าวได้ว่ากำลังเข้าสู่สภาพความแตกแยกทั้งด้านผลประโยชน์และแนวคิด “นิยมตะวันตกเสมือนพ่อของตัวเอง” รวมถึงเรื่องการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ผมจึงเขียนเรื่อง “ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไร” ขึ้น เพราะเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง หรือกล่าวถึงก็มักคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพื่อทิ้งไว้เป็นข้อเตือนใจ เตือนสตินักการเมืองทั้งหลายตั้งแต่ “รุ่นไดโนเสาร์” จนถึง “รุ่นฟันน้ำนม” โดยเฉพาะนักการเมืองบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ให้หันกลับมาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องกับการรักษาประเทศชาติให้เป็นเอกราช ไม่เสียเปรียบต่างชาติ โดยดูตัวอย่างการตัดสินใจของนายปรีดี พนมยงค์, คณะรัฐมนตรีรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ สส. ในห้วงเวลาคับขันหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว เป็นตัวอย่างประกอบ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจน
1. ปฐมบทของเสรีไทย
กรณีนี้ต้องขอแนะนำตัวเอกของเรื่อง “เสรีไทย” ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เกียรตินิยมอันดับ 2 (สอบได้ B วิชากฎหมายโรมันจึงไม่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1) แต่สอบเนติบัณฑิตกฤษได้ที่ 1 เมื่อกลับเมืองไทยก็เข้าสอบเนติบัณฑิตไทยภาคแรกได้ที่ 1 ภาค 2 ได้ที่ 3 เพราะไปบวช และมุ่งมั่นที่จะสอบได้นักธรรมเอก ซึ่งก็สามารถสอบนักธรรมเอกได้เป็นที่ 1
ม.ร.ว.เสนีย์ขึ้นเป็นผู้พิพากษาขั้นต้น เลื่อนลำดับเรื่อยมาจนเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่ออายุได้ 32 ปี (ขณะนั้นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มักจะมีอายุประมาณ 55 ปี) ต่อมาได้ไปเป็นอาจารย์กฎหมายที่ มธ. เขียนตำรากฎหมายมากมาย เป็นที่รักใคร่ของลูกศิษย์อย่างมากเป็นที่ประจักษ์ของคนทั่วไป ประกอบการเป็นพระราชวงศ์ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลายเป็นอาจารย์ที่เด่นดังเกินไป จึงถูกรัฐบาลส่งตัวไปเป็นทูตประจำสหรัฐฯ พร้อมกับพระมนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์) ที่ไปเป็นทูตประจำอังกฤษ ในขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เพียงปีเดียว (พ.ศ.2483) ม.ร.ว.เสนีย์จึงต้องเดินทางไปเป็นทูตทั้งที่ไม่เต็มใจ
อนึ่ง บุคคลสำคัญที่ต่อสู้จนประเทศไทยพ้นภัยคุกคามของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นั้นยังมีอีกหลายคน เช่น นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย นายมณี สาณะเสน นายยวด เลิศฤทธิ์ ฯลฯ
2. ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย
เมื่อ 8 ธ.ค. 2484 ญี่ปุ่นบุกโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ และยกพลขึ้นบกในประเทศไทย รบได้ 3 วัน ประเทศไทยก็ยอมแพ้ รัฐบาลสั่งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ เผาทำลายเอกสารสำคัญทิ้ง แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ไม่ยอมแพ้ด้วย ได้ประกาศตั้ง “เสรีไทย” ขึ้นทันที รวมทั้งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในสหรัฐฯ หลังจากรัฐบาลไทยยอมแพ้ญี่ปุ่นได้ 2 วัน โดยมีเหตุผล 2 เรื่อง คือ
(1) ต้องรักษาสถานะและสถานทูตไทยไว้ในต่างประเทศ เพราะถ้ายังมีสถานทูตอยู่ก็เท่ากับประเทศไทยยังมีเอกราชอยู่ (เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สหรัฐฯ ใช้เหตุผลนี้ประกาศให้ไทยเป็นเอกราช)
(2) สหรัฐฯ กำลังตกใจกับการโจมตีที่เพิร์ล ฮาเบอร์ และยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมสงคราม ดังนั้นการที่ประเทศไทยประกาศร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นอันเป็นศัตรูร่วม จึงถือว่าไทยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศแรกของสหรัฐฯ ในการทำสงครามกับญี่ปุ่น
นอกจากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ยังส่งนายมณี สาณะเสน เจ้าหน้าที่องค์การนานาชาติ กรุงเจนีวา ที่มาตกค้างอยู่ที่สหรัฐฯ ให้เดินทางไปจัดตั้งเสรีไทยในอังกฤษ ตามคำเรียกร้องของนักเรียนไทยในอังกฤษ เนื่องจากทูตไทยในอังกฤษไม่กล้าประกาศตั้งเสรีไทย นักเรียนไทยในอังกฤษส่วนใหญ่ในขณะนั้นอยู่ในภาวะตกยากเพราะไม่มีสถานทูตดูแล ต้องไปรับจ้างทำงานตามฟาร์มหรือร้านค้าต่างๆ แต่ในที่สุดอังกฤษยอมให้มีการจัดตั้งเสรีไทยได้
ต่อมาเครื่องบินสหรัฐฯ ได้นำใบปลิว “ประกาศเสรีไทย” ซึ่งมีภาพ ม.ร.ว.เสนีย์จับมือกับแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาโปรยเผยแพร่เพื่อโฆษณาชวนเชื่อชักชวนให้คนไทยต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย
3. จอมพล ป. พลาดต้องประกาศร่วมเป็นร่วมตายกับญี่ปุ่น
แนวโน้มที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเข้าร่วมกับญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2484 จอมพล ป. ได้ตกลงใจประกาศสงครามกับอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพแอฟริกาใต้
ต่อมา สหรัฐฯ เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ 25 ม.ค. 2485 รัฐบาลไทยก็ยังประกาศสงครามกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกประเทศหนึ่ง แต่การจัดตั้งเสรีไทยของ ม.ร.ว.เสนีย์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่สหรัฐฯ ประกาศเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทำให้สหรัฐฯ ถือว่าไทยถูกบังคับให้ประกาศสงครามตอนญี่ปุ่นยึดประเทศไทยแล้ว ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ตามสหรัฐฯ
4. ท่าทีของประเทศต่างๆ ต่อการเป็นเอกราชของประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
• เดือน มี.ค. 2486 เจียงไคเช็คประกาศว่าจีนไม่ปรารถนาร้ายต่ออธิปไตยของไทย
• เดือน พ.ย. 2487 สหรัฐฯ ยอมให้ไทยเซ็นสัญญาการบินในประเทศที่ประชุมการบินพลเรือน ที่ชิคาโก (อนุสัญญาชิคาโก) ซึ่งมีผลเป็นการลบล้างสถานะอันเป็นศัตรูต่อกัน แต่อังกฤษก็ยังประท้วง
• กลางเดือน ส.ค. 2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สหรัฐฯ ประกาศยอมรับการมีเอกราชของไทยอย่างเป็นทางการ พอสรุปได้ดังนี้
• สหรัฐฯ ได้ประกาศรับรองเอกราชของประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2488 สหรัฐฯ ได้มีการประกาศให้ทุกประเทศทราบอย่างชัดเจนว่า “เราได้รับรู้การประกาศสงครามของไทย และได้รับรองสถานะของทูตไทยในกรุงวอชิงตัน เป็นทูตผู้แทนของประเทศไทยตลอดมา โดยเวลาเดียวกัน เราหาได้รับรองฐานะของรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ไม่ เพราะรัฐบาลตกอยู่ในการบังคับควบคุมของญี่ปุ่น”
• สหภาพโซเวียต ไม่มีข้อขัดแย้งอะไรกับไทย
• อังกฤษ และฝรั่งเศส มีปัญหากับไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอังกฤษนั้นเห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ จึงพยายามใช้ข้ออ้างเรื่องสงครามมาบังคับให้ไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงครามเพื่อเป็นประเทศในอาณัติของอังกฤษให้ได้
5. ผลประโยชน์หลังสงครามโลกของมหาอำนาจ 5 ประเทศ
สหรัฐฯ จีน สหภาพโซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส ถือว่าเป็นประเทศผู้ชนะสงครามที่จะร่วมกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ประเทศเหล่านี้จึงจัดการกับประเทศผู้แพ้สงครามขึ้นในหลายลักษณะตามใจตัวเอง แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ ไม่เคยมีเพื่อนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อนเลย ประกอบกับไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครมาก่อนเลย และยังตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องเข้ามาช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่เพื่อหวังผลประโยชน์เหมือนกันซึ่งเห็นได้ในเวลาต่อมา
• เดือน ส.ค. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ โทรเลขมาขอให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้สหรัฐฯ สนับสนุนประเทศไทย และร้านเพื่อกดดันให้อังกฤษซึ่งส่งทหารเข้ามาในประเทศไทยโดยอ้างว่า “มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น” กลับออกไป
แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ปฏิเสธเพราะได้ไปทำบันทึกตกลงกับทางสหรัฐฯ ไว้ว่า “ขบวนการเสรีไทยนอกประเทศเป็นขบวนการกู้ชาติ ไม่ใช่ขบวนการเมือง เมื่อสงครามยุติลง ม.ร.ว.เสนีย์จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง”
นายปรีดีได้มีโทรเลขมาอีกว่า “เมืองไทยถูกทหารอังกฤษยึดครอง ไม่มีใครในเมืองไทยจะเจรจาให้เขาถอนทหารออกไปได้ มีแต่ ม.ร.ว.เสนีย์เท่านั้น ซึ่งถ้า ม.ร.ว.เสนีย์ไม่กลับไปเจรจา บ้านเมืองเป็นอะไรไป ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ ม.ร.ว.เสนีย์”
จากสาเหตุนี้เอง ม.ร.ว.เสนีย์จึงไปติดต่อกับทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทางอธิบดีกรมตะวันออกไกลบอกว่า “งานกู้เอกราชของ ม.ร.ว.เสนีย์ยังไม่จบ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ กลับไปเจรจากับอังกฤษ ขัดข้องอะไรทางสหรัฐฯ จะช่วย” ดังนั้น ม.ร.ว.เสนีย์จึงตกลงกลับมารับตำแหน่งนายกฯ
• วันที่ 1 ก.ย. 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ออกเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมารับตำแหน่งนายกฯ โดย ม.ร.ว.เสนีย์พยายามทำให้อังกฤษเกิดความเห็นใจโดยอ้างว่าเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ จึงมาใช้บริการของรัฐบาลอังกฤษแทนสหรัฐฯ ในการเดินทางกลับประเทศไทย แต่กลับได้รับการกีดกันไม่ให้เดินทางได้อย่างสะดวก เพราะระหว่างนั้นอังกฤษกำลังเจรจาให้ประเทศไทยตกเป็น “รัฐอารักขา” ของอังกฤษกับรัฐบาลรักษาการของนายทวี บุณยเกตุ อยู่ จึงไม่อยากให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลับมาขัดขวางการเจรจา ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จตามที่อังกฤษต้องการ ม.ร.ว.เสนีย์ มาไม่ทัน ตัวแทนรัฐบาลไทยจึงได้เซ็นสัญญาดังกล่าว ไปเรียบร้อยแล้ว
• ในที่สุดวันที่ 16 ก.ย. 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ก็เดินทางถึงประเทศไทยและเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ต่อจากนายทวี
ภารกิจสำคัญของ ม.ร.ว.เสนีย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือการทำให้อังกฤษยกเลิกการประกาศทำสงครามกับประเทศไทย ซึ่งอังกฤษไม่ยอมยกเลิก พยายามกดดันไทยให้ทกตามสัญญา21 ข้อชดใช้ค่าเสียหายให้อังกฤษ จนเป็นผลสำเร็จตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ทาง ม.ร.ว.เสนีย์ในฐานะนายกฯ คนใหม่ มีเข็มมุ่งที่จะไม่ยอมรับ สัญญาที่จะทำให้ประเทศไทยมีสภาพเป็นเมืองขึ้นอย่างเด็ดขาด จึงมีการต่อรองในการทำสัญญากับอังกฤษมาตามลำดับถึง 3 ฉบับ ดังนี้
1. สัญญาฉบับแรก 21 ข้อ
ลงนามวันที่ 8 ก.ย. 2488 ได้จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทวี (ระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์กำลังเดินทางกลับมารับตำแหน่ง) เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ต้องตกอยู่ในสภาพ “รัฐอารักขาของอังกฤษ” ม.ร.ว.เสนีย์จึงแจ้งให้ทางสหรัฐฯ ทราบ เพราะสัญญาทำระหว่างไทยกับกลุ่มสัมพันธมิตร แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสัมพันธมิตรไม่เห็นด้วยจึงแจ้งให้อังกฤษยกเลิกการทำสัญญากับไทยเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสัมพันธมิตร อังกฤษจึงยอมยกเลิกสัญญา 21 ข้อ และขอให้ไทยทำลายต้นฉบับสัญญาของไทยด้วย กรณีนี้อังกฤษจึงลักไก่ทำสัญญาโดยอ้างสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ
พล.อ.เนตร เขมะโยธี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปเจรจากับฝ่ายอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
“...การที่รัฐบาลไทยยอมรับข้อตกลง 21 ข้อ หมายความว่านอกจากการยอมร่วมมือทางการทหารแล้ว เราได้ยอมให้อังกฤษ มีสิทธิผูกขาดเกี่ยวกับน้ำมัน, ป่าไม้, ข้าว, สินค้าออกเกี่ยวกับยางและดีบุก, ควบคุมการเดินเรือของไทย สิทธิที่จะตั้งกองทหารจุดสำคัญๆ โดยไม่มีกำหนด, ฐานทัพและท่าเรือ ตลอดจนการผูกขาดสายการบินพาณิชย์ ผ่านที่กรุงเทพฯ ด้วยนั้น
ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาดูว่า เรายังมีอะไรเหลืออีกบ้าง…?...”
2. สัญญาฉบับที่สอง 51 ข้อ
อังกฤษโกรธไทยมากที่ไปบอกสหรัฐฯ จึงพยายามยกร่างสัญญาใหม่ มีเจตนากลั่นแกล้งประเทศไทย โดยเพิ่มจำนวนเงื่อนไขในสัญญาให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 51 ข้อ และกำหนดให้ไทยลงนามที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ในวันที่ 20 ก.ย. 2488 ทั้งๆ ที่เพิ่งแจ้งมาเมื่อ 19 ก.ย. 2488 (บรรยากาศของการเจรจา อังกฤษแสดงท่าทีข่มขู่ตลอดเวลา)
ม.ร.ว.เสนีย์ได้พยายามประวิงเวลาต่อรอง ไม่ลงนามในสัญญากับอังกฤษ แต่นายปรีดีก็เห็นด้วยที่จะให้ไทยไปลงนามในสัญญาเพราะเกรงว่าเรื่องจะเลวร้ายมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์เสนอเรื่องเข้าสภาเพื่อให้สภา ช่วยรับรองว่าจะไม่เซ็นต์สัญญา แต่ก็แพ้เสียง เพราะสภาเป็น สส.คณะราษฎรเกือบทั้งหมด ไปขอมติใน ครม. ก็โหวตใน ครม. แพ้อีก เพราะรัฐมนตรีเกือบทุกคนมาจากคณะราษฎร มีรัฐมนตรีที่ไม่ยอมให้ไปลงนามเพียง 3 คน คือ ม.ร.ว.เสนีย์ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ และพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (ข้าพระบาทในหลวง ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ขอโควตารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ให้ เพื่อนำการทำงานใน ครม. ไปกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 8 ทรงทราบ)
ในที่สุด ม.ร.ว.เสนีย์ตัดสินใจไปตายเอาข้างหน้า โดยส่งผู้แทนไปสิงคโปร์วันที่ 13 ธ.ค. 2488 เพื่อลงนาม (กำหนดลงนาม 15 ธ.ค. 2488) โดยให้นโยบายแก่คณะผู้แทนไปถ่วงเวลาไว้ให้นานที่สุด ในขณะเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ได้เปิดเผยสัญญาต่อสื่อมวลชนต่างประเทศอย่างแพร่หลาย มีการตีพิมพ์สัญญาทาสนี้ในสื่อสหรัฐฯ หลายฉบับ เป็นผลทำให้ทางสหรัฐฯ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษด้วย การลงนามจึงถูกเลื่อนออกไป (ในระยะนั้นอังกฤษต้องการกู้เงินจำนวนมหาศาลจากสหรัฐฯ จึงต้องจำยอม)
3. สัญญาฉบับที่สาม 24 ข้อ (บรรยากาศของการเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างผ่อนคลาย ไม่เหมือนการเจรจา ๒ ครั้งแรก)
อังกฤษนำฝรั่งเศสและอินเดียเข้าร่วมในคู่สัญญาเพราะต้องการดินแดนที่ไทยยึดไปในสงครามอินโดจีนคืน สหรัฐฯ จึงได้หารือกับอังกฤษ ปรับสัญญาลงเหลือ 24 ข้อ แม้ประเทศไทยจะเสียเปรียบบ้างแต่ก็ไม่กระทบต่อเอกราชไทย ตามสัญญาข้อ 21 และ 22
“...สัญญา 24 ข้อที่เป็นประกันเอกราชของไทยคือข้อ 21 ซึ่งตราไว้ว่า โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้ดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรตกลงถือว่าสถานะสงครามเป็นอันสิ้นสุดลง และจะดำเนินการโดยพลัน ในอันที่จะกลับเจริญสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศไทยและแลกเปลี่ยนทูตกันด้วย ข้อ 22 ตราไว้ต่อไปว่า รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรรับรองด้วยว่า จะสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ...”(สมาชิกสหประชาชาติต้องเป็นรัฐที่เป็นเอกราชเท่านั้น)
ม.ร.ว.เสนีย์จึงยอมลงนามในสัญญาเมื่อ 1 ม.ค. 2489 เพราะเห็นว่าสัญญานี้ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียเอกราชแต่อย่างใด เรื่องที่ถูกทำให้เสียเอกราชนั้นได้ถอนออกไปจากสัญญาจนหมด (เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารอังกฤษกับอินเดียถอนกำลังออกจากประเทศไทย)
ระยะเวลาเจรจาต่อรองในสัญญานั้น เริ่มเจรจาในเดือน ก.ย. 2488 – 1 ม.ค. 2489 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือนเศษ ทำให้ประเทศไทยซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นชาติแพ้สงคราม ไม่ต้องตกอยู่ในอิทธิพลอังกฤษทั้งเอกราชของประเทศและค่าเสียหายจากสงคราม ฯลฯ) ยกเว้น 2 เรื่องที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ (1) เรื่องการส่งข้าว แต่ก็มีจำนวนลดน้อยลง และยังเป็นการส่งข้าวให้สหประชาชาติด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นข้าวที่เหลือกินในประเทศแล้วโดยมีสัญญาแค่ 1 ปีครึ่งเท่านั้น และ (2) เรื่องขุดคลองคอดกระ
สัญญา 24 ข้อนี้ ถ้าประเทศไทยลงนาม อังกฤษและฝรั่งเศสจะสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งประเทศเอกราชเท่านั้นจึงจะเป็นสมาชิกได้
รศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล ได้ระบุไว้ในหนังสือ “ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” หน้า 238 ว่า
“... แม้ว่าสำหรับฝ่ายไทยนั้น ข้อตกลงจะเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่สำหรับมติมหาชนชาวอังกฤษนั้น ข้อตกลงสมดุลแบบเป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสียเท่าที่ควร ดังที่สื่ออังกฤษได้รายงานเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษเอาไว้ว่า
‘ด้วยข้อตกลงใหม่นี้ สยามหลุดรอดจากสงครามไปได้อย่างบางเบา พวกเขาได้รับการลงโทษไปไม่มากไปกว่าการลงโทษเด็กน้อย พวกเขาได้รับเอกราชเฉกเช่นดังเดิม พวกเขาไม่ได้กลายมาเป็นประเทศราช ดังที่พวกเขาควรจะเป็น ในช่วงเวลาที่พวกเราไร้ความปราณีมากกว่านี้...สิ่งเดียวที่น่าสงสัยที่เราจะได้จากข้อตกลงก็คือ การที่เราบอกสยามว่า พวกเขาสามารถจะขุดคอคอดกระได้เมื่อใด ข้อตกลงเหมือนจะเป็นซากเก่าจากโลกสมัยก่อนยุคปรมาณู’…”
กล่าวได้ว่าประเทศไทยเอาตัวรอดมาจากความกระหายในผลประโยชน์ของอังกฤษได้แบบหวุดหวิด ได้เอกราชคืนมาเสมือนฝัน
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้อ้างอิงมาจาก
1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, 2548).
2. พีระ เจริญวัฒนนุกูล, ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2567).
3. พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์, วิวัฒน์รัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ : ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสต์ ฟาเซ็ท, 2562).
4. พลเอก เนตร เขมะโยธิน, งานใต้ดินของพันเอกโยธี, (พระนคร : เฟื่องอักษร, 2510).
หนังสือทั้ง 4 เล่มนี้มีประเด็นหลักของเรื่องแตกต่างกัน แต่มีตรงหัวเรื่องจริงๆ คือ หนังสือ “ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” ของ รศ.ดร.พีระ ซึ่งควรค่าแก่การหามา อ่านอย่างยิ่งครับ