"นายกฯอิ๊งค์" แย้มรัฐบาลเตรียมคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ยืนยันทำ"คนละครึ่ง" แต่ทั้งหมดต้องดูสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ขอประชาชนอดใจรออีกนิด ปัดให้ความเห็นดอกเบี้ยนโยบาย โยนเป็นเรื่องกระทรวงคลังต้องไปคุยกัน ขณะที่ "น้ำมันดีเซล" ดันเงินเฟ้อ ก.ย.สูงขึ้น 0.61% ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกรอบ 3 เดือน

 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์ในงานสัมมนาเวทีกรุงเทพธุรกิจ ฟอรั่ม ASEAN Economic Outlook 2025 ว่า ยังไม่ขอพูดเรื่องการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเหมือนโครงการ คนละครึ่ง ที่เคยทำมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ก่อนหน้านี้


 น.ส.แพทองธาร กล่าวยืนยันว่า แม้จะยังไม่มีคนละครึ่ง แต่จากนี้จะมีมาตรการทางด้านเศรษฐกิจอีกหลายมาตรการทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องดูสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยว่าเป็นอย่างไร โดยหลายๆ โครงการที่มีประโยชน์กับประชาชนรัฐบาลก็พร้อมพิจารณา และจะเรียงลำดับการทำแน่นอน ขอให้อดใจรออีกหน่อย
 "ขณะนี้ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เข้ามารายงานข้อมูลรายละเอียดโครงการต่างๆ ให้รับทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาออกมาตรการด้านเศรษฐกิจต่อไป น.ส.แพทองธาร กล่าวและว่า ส่วนประเด็นเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน เป็นเรื่องทางการคลัง ขอให้เขาไปคุยกันต่อ และขอไม่ตอบเรื่องนี้แล้วกัน


 วันเดียวกัน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนกันยายน 2567 เท่ากับ 108.68 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.02 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.61 โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมถึงผักสดบางชนิดได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ราคาแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซินปรับลดลงใทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก


 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.35 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)  
 

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 49.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 43.1 จากระดับ 41.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 57.2 จากระดับ 55.1 สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจาก (1) ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออกและปัจจัยฤดูกาลช่วงปลายปี (2) การดำเนินนโยบายภาครัฐที่เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรง พร้อมทั้งมีการดำเนินการเรียบร้อยแล้วในกลุ่มเปราะบาง และ (3) ราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายรายการปรับตัวดีขึ้น อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับภาวะอุทกภัยภายในประเทศที่สร้างความเสียหายต่อครัวเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ยังเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป