วันที่ 7 ต.ค.2567 เวลา 14.40 น.ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวุฒิสภาส่งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กลับให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วหรือไม่ ว่า ตนเข้าใจว่าส่งมาแล้วซึ่งคงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ยืนยันว่าท้ายที่สุดแล้วสส.จะเห็นอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่การตั้ง กมธ.ร่วมกันระหว่าง สส. กับ สว. ซึ่งข้อบังคับระบุว่าต้องตั้งกมธ.ฝ่ายละเท่ากัน โดยที่ผ่านมาก็มีการตั้งกมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน และในส่วนของ สส.ก็ต้องไปตามอัตราส่วนของสมาชิก ที่ประกอบด้วยรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ เข้าใจว่านายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้กำหนดแล้วว่าพรรคนั้นมีกี่คน พรรคนี้มีกี่คน ฝ่ายค้านกี่คน และต้องส่งให้วุฒิสภา ซึ่งทางวุฒิสภาก็ต้องส่งมา 10 คนเช่นกันเพื่อมาประชุมร่วมกันว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า ผลที่ไปศึกษามาว่าทำประชามติสองครั้ง ได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือ เป็นเพียงความเห็นว่าเมื่อมีปัญหาเช่นนี้แล้ว ท้ายที่สุดเราจะแก้ปัญหาอย่างไร บางความเห็นก็บอกว่าให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น จึงเกิดการเสนอว่าให้ทำประชามติสองครั้ง แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นความเห็นของฝ่ายที่เขาสนใจที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อถามว่า ตามโรดแมปของรัฐบาลอยากทำประชามติช่วงแรกพร้อมกับการเลือกนายก อบจ. ในเดือนก.พ. หากดูเกมการแก้ประชามติแล้วจะทันใช้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ 180 วันนั้น หากความว่าตกลงกันไม่ได้ซึ่งก็ต้องรอไว้ 180 วัน แบบนี้ไม่ทันแน่นอน ฉะนั้น หากจะให้ทันเหมือนที่นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา กมธ. พิจารณาพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์นั้น ก็อาจจะมีแนวทางอื่น ที่กมธ.ร่วมต้องไปพิจารณา ซึ่งหากกมธ.ร่วมเห็นพ้องก็จะไปสู่การพิจารณาร่างกฎหมายได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 180 วัน อาจจะใช้เวลาแค่บวกล 1 เดือนนิดหน่อย ซึ่งจะสามารถทำให้เสร็จได้ แต่ก็แล้วแต่ว่ากมธ.ร่วมกันจะพิจารณาอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ก็จะทันใช้ในช่วงม.ค.-ก.พ.68