เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 ต.ต. ที่ห้องฉัตราบอลรูม ชั้น 2 โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand Economic Big Move” ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity 

โดยนายกฯ กล่าวว่า วันนี้ขอบคุณที่ให้เกียรติมาร่วมงาน ตนอายุ 38 ปี ถ้าอยู่ในวงการอื่นๆที่เคยทำธุรกิจมาไม่มีใครบอกว่าอายุน้อย แต่พอมาเป็นการเมืองปุ๊บ ก็จะบอกว่าอายุน้อยไป แต่จริงๆตนคิดว่าคนที่อายุเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าเปิดโอกาสให้เขาทำงานในทุกตำแหน่ง ทุกๆวงการ คิดว่าจะได้มีไอเดียใหม่ๆเข้ามา พร้อมกับมีคนรุ่นก่อนที่จะสามารถซัพพอร์ทเป็นที่ปรึกษาได้ นี่เป็นเรื่องที่อยากให้ประเทศไทยค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตอนนี้เราเห็นได้ชัดแล้วว่าทุกวงการมีคนทุกอายุเพิ่มมากขึ้น วันนี้ขอมาพูดว่ารัฐบาลของเรากำลังจะทำอะไรต่อไป และประเทศไทยจะเห็นอะไรในอนาคตจากมุมของอาเซียนเอง วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง

นายกฯ กล่าวต่อว่า และในช่วงทศวรรษที่ 1990 อาเซียนที่นำโดยประเทศไทยได้พัฒนาตัวเอง เป็นเขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน กับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างเอเปคก็เกิดขึ้นในยุคนั้น ซึ่งมาวันนี้ ดิฉันขอใช้เวทีนี้มาเล่าให้ทุกท่านฟัง ถึงเป้าหมายของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศสมาชิก ที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อทศวรรษต่อไปของอาเซียนค่ะ โดยในวันนี้จะมีทั้งหมด 4 ประเด็น  คือ 1.จีดีพีของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในวันนี้มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือ 119 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวอีก 4-5% ต่อปีต่อเนื่องในอนาคต เป็นตลาดอันดับ 5 ของโลก และมีประชากร กว่า 670 ล้านคน อาเซียนจึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และจำเป็นต้องปลดล็อคศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า

โดยประเทศสมาชิกจำเป็นต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอาเซียน มีกฎเกณฑ์การค้า การลงทุน และการเก็บภาษี สอดคล้องไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งภูมิภาคเพื่อทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การลงทุนในประเทศสมาชิกหรือ ประเทศไทย จะเท่ากับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น จากลงทุนกับประชากรไทย 66 ล้านคน ให้เปลี่ยนเป็นการลงทุนกับประชากรอาเซียนที่มีถึง 670 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสและศักยภาพมากกว่าหลายเท่า

นายกฯ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2.อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ (Peace and Prosperity) เป็นจุดเด่นสำคัญซึ่งเหมาะแก่การลงทุน และเป็นจุดที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี เป็นพื้นที่เจรจาลดความขัดแย้งของโลก โดยเฉพาะในเวลานี้ที่โลกกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ได้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจการค้าถดถอยลงไปอย่างมากในหลายพื้นที่ทั่วโลก เพราะมาตรการกีดกันทางการค้าก็มีมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้วในขณะที่อาเซียนมีจุดเด่นที่สนับสนุนการค้าการลงทุนอย่างเสรี หลายประเทศที่แม้มีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถทำมาหากินกันได้ไม่มีปัญหาในภูมิภาคอาเซียน

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากประเทศจีน และการกระจายการลงทุนในประเทศอาเซียนในหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมด้านรถไฟฟ้าและการผลิตโซลาเซลล์ ในประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียขณะเดียวกัน นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็ให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนด้านสินค้าเทคโนโลยี ทั้งใน เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และการลงทุนสร้าง ดาต้าเซ็นเตอร์ ของ Google ไปจนถึงการผลิตมือถือและคอมพิวเตอร์ของ Apple 

นายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อาเซียนยังมีบทบาทในการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง เช่น การใช้ประเทศไทยเป็นเวทีเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ แต่อาเซียนยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศสมาชิกคือ ปัญหาการสู้รบในเมียนมา นี่เป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนต้องแก้ไขให้ได้เพราะจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเทศข้างเคียงทั้ง ไทย จีน และอินเดีย สร้างความเสียหายทั้งชีวิตของประชากร และผลกระทบทางเศรษฐกิจ  เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งในฐานการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่จะสามารถเชื่อมต่อกับอินเดีย ไปจนถึงประเทศตะวันออกกลาง

ดังนั้นอาเซียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำความสงบสุขกลับมาในประเทศเมียนมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งเราจะเน้นการทำงานร่วมกับนายอันวา อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งจะมีการใช้กลไกทางการทูตเพื่อแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด

นายกฯ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3.การขนส่ง ที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอาเซียน ในอนาคตอาเซียนจะต้องเชื่อมต่อระบบการขนส่งระหว่างประเทศ ที่อยู่บนผืนแผ่นดินเอเชีย เชื่อมต่อ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ เข้าด้วยกันให้ทั้งระบบเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งสินค้าติดต่อกันได้สะดวก เราต้องพัฒนาโครงสร้างคมนาคมร่วมกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สร้างถนน สร้างรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งพัฒนาท่าเรือ ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการทั้ง รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการขนส่ง

โดยภาพที่เรามองเห็นคือสินค้ามากมายหลายรูปแบบ เช่น รถไฟความเร็วสูง ที่จะถูกส่งผ่านเครือข่ายรถไฟ ที่เชื่อมต่อจากท่าเรือสิงคโปร์ และมาเลเซีย ผ่านมายังประเทศไทย เข้าสู่กรุงเทพฯ ผ่านจ. นครราชสีมา ไปยังจ.หนองคาย เข้าประเทศลาว ก่อนจะไปส่งสินค้าที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งโครงสร้างขนส่งที่มีประสิทธิภาพนี้ จะทำให้เกิดการลงทุนมหาศาล จาก จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ไปจนถึงประเทศตะวันออกกลาง อนาคตเศรษฐกิจของอาเซียน คือการส่งออกอาหารและผลผลิตการเกษตรไปทั่วโลก การมีโครงสร้างคมนาคมที่ดี จะทำให้อาเซียนมั่นคง แข็งแรง ทางเศรษฐกิจต่อไป 

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 4.อาเซียนต้องร่วมกันหาทางออกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าภาวะโลกเดือดให้ได้ เพราะความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เห็นได้จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงลาว เวียดนาม และเมียนมา ก็ประสบเหตุนี้ด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันให้แน่นมากขึ้น รวมไปถึงร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น จีน  หาแนวทางร่วมกันเร่งรัดนโยบาย ให้ได้ผลในเชิงปฏิบัติ มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อย่างประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับเรื่อง คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050  เราสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้โซล่าส์ เซลล์ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่

“ทั้งหมดที่ดิฉันเล่ามาเป็นเรื่องที่จะต้องนำไปพูดในเวทีอาเซียน ที่จะมีการพูดองค์รวมถึงปัญหาทั่วไปแต่การประชุมแยกแต่ละประเทศ เราจะขอความร่วมมือและสร้างสิ่งต่างๆร่วมกันในการลงทุนให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า  ซึ่งตนจะทำเต็มที่ วันนี้ลิตส์ไว้แล้วว่าจะคุยประเทศคู่ 10 ประเทศด้วยกัน จากนี้ไปจะต้องทำการบ้านหนักหน่อยว่าแต่ประเทศจะสามารถคุยอะไรได้บ้าง ก็ฝากขอกำลังใจจากพี่น้องประชาชนด้วย และสุดท้ายการประชุมอาเซียนนี้ ทั้งหมดที่พูดมาจะลิ้งค์กับ concept ของการประชุมอาเซียน 3 ทางคือ ด้านการเชื่อมโยงทางกายภาพ ด้านกฎระเบียบ ที่จะลดเรื่องกฎลงทำให้การติดต่อกันง่ายขึ้น และการเชื่อมโยงกับประชาชนทั้งวัฒนธรรม การท่องเที่ยว หรือการเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่ทำให้ข้อปิดกั้นต่างๆง่ายขึ้น

 และแน่นอนสุดท้ายการอยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีทำให้มีพลังกว่าการต่างคนต่างทำ  ในวันนี้อาเซียนอายุย่างเข้าไปปีที่ 58 แล้ว เราเป็นภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก รวมถึงสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับคู่ค้าทั่วโลก เป็นภาพสะท้อนแนวคิดที่ว่าการอยู่ร่วมกันโดยสามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ ASEAN together is much more than the sum of its parts"