‘โรงนาบ้านไร่’ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ตลอด 365 วัน ใน ต.วังไม้ขอน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เกิดจากความตั้งใจสร้างพื้นที่ระดมความคิดสร้างสรรค์จากอัตลักษณ์ของ จ.สุโขทัย ผ่านงานศิลปะและกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ โดยรวบรวมเครือข่ายศิลปินและบุคลากรมอบความรู้และเติมความสุขผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโรงนาบ้านไร่ที่สอดแทรกเรื่องสุขภาพจิต เช่น การเพนต์ถุงผ้า วาดจานสังคโลก DIY ผ้ามัดย้อมดินพระร่วง โคมไฟกระดาษสา กิจกรรมฝึกนักเขียนสร้างสรรค์ หรือเรียนทำก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมด้วยงานอาร์ตและธรรมชาติอันร่มรื่น เพื่อจุดประกายและปลูกดอกไม้ที่ชื่อว่า “ความรัก” ในหัวใจเด็ก ขณะที่วัยทำงานเข้ามาซึมซับอากาศแห่งความสุข ส่วนผู้สูงอายุได้มาเที่ยวชมและลงมือทำกิจกรรมสนุก ๆ เกิดแสงสว่างส่องให้เห็นคุณค่าในตัวเอง  

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความรักและความเมตตากรุณาในใจ

ความสำเร็จของโรงนาบ้านไร่หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักในชื่อ‘อาร์ตฟาร์ม สวรรคโลก’ ส่งผลให้พื้นที่นี้ติดอันดับ 1 ใน 10 ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบ ของ โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต โดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลศรีธัญญา และ มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ซึ่งปีนี้ทาง มสช.ยังจับมือผู้นำโรงนาบ้านไร่พร้อมสานพลังภาคีเครือข่ายขยายผลการสร้างความสุข กาย ใจ สังคม ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดสุโขทัย

สร้างระบบนิเวศน์ศิลป์เอื้อต่อการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่น

สัญญา พานิชยเวช หรือ “นกกวี” ผู้บุกเบิกโรงนาบ้านไร่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาสุขภาพจิตแท้จริงแล้วต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางคือทำให้ตัวเราเองมีความสุขในทุกวันจึงสร้างโรงนาบ้านไร่ขึ้นมา ภายในอาร์ตฟาร์มแห่งนี้ การจัดระบบนิเวศน์ศิลป์ที่เต็มไปด้วยปัจจัยเอื้อให้เกิดความสุข และความสร้างสรรค์จากมรดกวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของ จ.สุโขทัย เมืองที่มีศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงซึ่งยูเนสโกยกย่องเป็นมรดกความทรงจำของโลก มีอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยขึ้นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัยยังขึ้นแท่นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เรานำทุนวัฒนธรรมนี้มาปรับประยุกต์ใช้ทำกิจกรรมที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และใช้มือทำ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้ศิลปะสร้างสมาธิ ก่อปัญญา ปลดปล่อยความเครียด บางคนเครียดสะสมไม่รู้ตัวก็ผ่อนคลาย และยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน  สถานที่นี้นอกจากสร้างความสุข ยังส่งเสริมให้ชุมชนและเด็กรู้จักคุณค่าในตัวเอง

นกกวี สัญญา พานิชยเวช

“ถ้าเราเป็นปลาตัวหนึ่งที่แข็งแรงอยู่ในหนองน้ำชื่อสวรรคโลก หรือหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อสุโขทัย ต่อให้แข็งแรงแค่ไหน ถ้าน้ำเน่า เราก็ป่วย หน้าที่ของเราคือทำแหล่งน้ำให้สะอาด ปลอดภัย เราต้องการพื้นที่ที่ดี หากคิดแบบนี้ถ้าเรารักตัวเองขยายความรักไปสู่คนอื่น ๆ ให้รู้สึกรักตัวเอง ทำสังคมเล็ก ๆ ให้มีความสุข นี่คือหมุดหมาย เราปลูกดอกไม้ลงในหัวใจเด็กเพาะเมล็ดชื่อ ‘ความรัก’ ให้เติบโตไปพร้อมกัน  อีก 5 ปีข้างหน้าเด็กเหล่านี้จะเป็นใบหน้าของเมือง อีก 10 ปีข้างหน้าพวกเขาจะเป็นผู้นำของเมือง นอกจากดอกไม้บานในหัวใจคนสุโขทัยแล้ว ยังมี 5 จังหวัด อย่างพิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร แพร่ น่าน มาทำกิจกรรมที่โรงนา จากข้อมูลมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมแล้วเกือบ 20,000 คนในรอบปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรแล้วยังน้อย คนที่เหลือจะส่งต่อแนวคิดนี้อย่างไร จึงอยากให้มีโรงนาบ้านไร่ในทุกจังหวัดของไทย” สัญญา กล่าว

โรงนาบ้านไร่เตรียมยกระดับสู่โรงเพาะชำปัญญา

บทพิสูจน์ความสำเร็จของอาร์ต ฟาร์มแห่งนี้  เจ้าของโรงนาบ้านไร่ บอกว่า เห็นได้จากความตั้งใจกลับไปเที่ยวและร่วมกิจกรรมศิลปะของเด็ก ผู้สูงวัย หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่โรงนาบ้านไร่ซ้ำ แสดงว่า อาร์ตฟาร์ม สวรรคโลก มีศักยภาพในการสร้างความสุขและความพึงพอใจให้กับคนทุกเพศทุกวัย เป็นแรงดึงดูดให้พวกเขากลับมาอีกครั้ง ขณะที่คนในชุมชนก็ร่วมมือและสนับสนุนงานของโรงนาบ้านไร่ เช่น ครูแนะนำให้ผู้ปกครองพาลูกมาร่วมกิจกรรม เป็นต้น ความร่วมมือดังกล่าวช่วยยกระดับสุขภาวะทางจิตใจของคนในชุมชน เพราะผู้เข้าร่วมมีความสุข มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ พร้อมจะมอบความรักให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป ก่อเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง ในอนาคตตอีกสิ่งที่ต้องขยายต่อในพื้นที่คือการทำให้คนในชุมชนรับรู้ว่าโรงนาฯ เป็นพื้นที่ของครอบครัว ที่สามารถส่งเสริมให้พ่อแม่ลูกมาทำกิจกรรมด้วยกัน

อาร์ต ฟาร์ม สวรรคโลก กระขับสัมพันธ์ครอบครัว ชุมชน

อาร์ต ฟาร์ม สวรรคโลก พื้นที่ต้นแบบดูแลสุขภาพใจ ยังส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาร่วมดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตที่โรงนา สัญญา กล่าวว่า การทำกิจกรรมศิลปะและกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตต้องอาศัยทักษะและความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งคนในชุมชนขาดความเชี่ยวชาญ แม้แต่ตนที่เป็นผู้นำก็ต้องเติมความรู้ เราเชิญวิทยากรที่เป็นจิตรกร นักเขียน นักเล่านิทาน  ดีไซเนอร์ มาถ่ายทอดความรู้ให้วิทยากรชุมชนที่ เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน  รวมถึงครูที่พานักเรียนมาที่นี่ และยังขยายผลอบรมครูใน อ.สวรรคโลก และพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถทำกิจกรรมศิลปะสร้างสุขที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เพิ่มทักษะชีวิตให้เด็ก ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งได้ต่อยอดสู่การสนับสนุนโรงเรียนประจำตำบลและโรงเรียนเทศบาลในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อนที่ปรึกษาช่วยแนะนำการดูแลจิตใจตัวเอง เน้นสร้างความสุข ลดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม หาก มสช. หรือ สสส. ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้เร็วขึ้น

เยาวชนสนุกสนานกับกิจกรรมเพนต์หน้ากาก

“ประโยชน์นอกจากเป็นพื้นที่ที่ดีต่อใจแล้ว ยังเกิดทีมนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน หรือ นสช.จากหลากหลายอาชีพดูแลจิตใจคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง นับเป็นความสำเร็จของโมเดลนี้ ที่ผ่านมาโรงนาบ้านไร่ได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นส่งเสริมสุขภาพจิตผ่านกิจกรรมอาร์ต ๆ เป็นอย่างดี โรงพยาบาลในพื้นที่มาจัดกิจกรรมศิลปะบำบัดเป็นประจำทุกเดือน ผลลัพธ์เหล่านี้นำเสนอผ่าน มสช.และกรมสุขภาพจิตเพื่อขยายผลขับเคลื่อนในชุมชนท้องถิ่นอื่น ๆ ต่อไป” สัญญา กล่าว

ก้าวต่อไปของโรงนาบ้านไร่กำลังเดินหน้าสู่ “โรงเพาะชำปัญญา” สัญญา อธิบายเพิ่มว่า เราพร้อมเติบโตอย่างมั่นคงบนรากฐานความเป็นสุโขทัย กิจกรรมเสริมสร้างปัญญาจะเกิดขึ้นผ่านการเรียนรู้จากมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัด ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาผสานกับปัญญาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า   ประโยชน์ไม่เพียงสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่ยังสร้างความสุข ความภาคภูมิใจ และความเป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นอีกด้วย

สัญญา พานิชยเวช ส่งเสริมกิจกรรมกับนักเรียน

“ตั้งใจจะพัฒนาอาร์ตฟาร์มที่ใช้ระบบนิเวศน์ศิลป์เป็นตัวขับเคลื่อนเปลี่ยนให้เป็นนิเวศวิถี หมายถึง การสร้างสุขกายใจอยู่ในทุกวันของชีวิต  โรงเพาะชำปัญญาตามแผนจะแบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.พื้นที่ให้ศิลปิน ครู พำนักสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2.สตูดิโอของศิลปินอาจารย์ที่สร้างสรรค์ผลงานผ่านมรดกวัฒนธรรม 3.พื้นที่จัดแสดงผลงานที่ได้มาตรฐาน 4.ห้องเรียนศิลปะ หรือ Class Room ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราทำอย่างเข้มข้นแต่แรก โดยจะเน้นส่งเสริมศิลปินท้องถิ่นมาเป็นวิทยากรเติมเต็มความรู้ ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์เรื่องสุขภาพจิตของชุมชน สามารถสร้างเป็นต้นทุนทางสังคมให้ชุมชนได้ มั่นใจว่าจะเป็นรูปธรรมภายใน 3-5 ปีจากนี้” เจ้าของอาร์ตฟาร์ม สวรรคโลก กล่างอย่างมั่นใจ

ผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมวาดภาพระบายสี

ด้าน พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า มสช. ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่ปี 2564 เน้นการควบคุมหรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพนำร่อง 15 พื้นที่ทุกภูมิภาค ผลการดำเนินงานทำให้เกิด 2 โมเดลเชิงวิชาการ 1.การสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นระบบ 2.การสร้างนักสื่อสารสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น (นสช.) ในทุกพื้นที่ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับประเทศ หนึ่งในโมเดลตัวอย่างคือโรงนาบ้านไร่ จ.สุโขทัย แล้วยังมีลิ้นจี่โมเดล จ.สมุทรสงคราม เสมาโมเดล จ.เลย และ จุดพักใจผักไหมแคร์ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น นวัตกรรมและแนวทางส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในชุมชนท้องถิ่นจะยกระดับสู่นโยบายสาธารณะระดับชาติ เพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดีทุกช่วงวัย

กิจกรรมเพนต์ถุงผ้าต่อยอดเอกลักษณ์สุโขทัย

ท่ามกลางสถานการณ์คนไทยเข้ารับบริการจิตเวชใกล้แตะ 3 ล้านคน  ในจำนวนนี้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่าครึ่ง ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ  พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตและ มสช. เห็นตรงกันว่าไกสร้างเสริมสุขภาพจิตของโรงนาบ้านไร่ที่ใช้ศิลปะจูงใจทำให้คนเรียนรู้ เพิ่มทักษะ สามารถปรับเปลี่ยนเรื่องความคิดและสุขภาพจิตได้จริง ทั้งการดึงเด็ก ๆ ออกจากหน้าจอแท็ปเล็ตหรือสื่อโซเชียลมีเดียต้องมีอะไรที่ทดแทนให้เขา ซึ่งกิจกรรมของโรงนาบ้านไร่ออกแบบมาได้อย่างดี  ท้องถิ่นอื่น ๆ สามารถนำแนวทางไปพัฒนากิจกรรมสุขภาพจิตใจชุมชนของตนเองได้ ส่วนโรงนาบ้านไร่เองก็มีหัวเชื้อทำงานเชิงรุกในจังหวัดสุโขทัยต่อไป

เพนต์สีเครื่องปั้นดินเผา ลวดลายจากวัฒนธรรมและจินตนาการ

โรงนาบ้านไร่จัดกิจกรรมหลากหลายโดนใจทุกเจน  ชาญวิทย์ โวหาร ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาศักยภาพเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม มูลนิธิบุญยงฯ  ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนการสร้างสุขภาพจิตที่ดีในชุมชน กล่าวว่า สภาพสังคมปัจจุบันพบเด็กสมาธิสั้น ติดมือถือ เด็กดื้อ แต่ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือที่มีพลังสร้างแรงดึงดูดให้เด็กห่างไกลจากปัญหาเหล่านี้  โมเดลอาร์ตฟาร์ม สวรรคโลกจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเพิ่มคุณค่าทางจิตใจของตัวเอง อีกทั้งยังสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน จากนี้ต้องถอดบทเรียนโมเดลนี้ เผื่อนำแนวความคิดขยายผลเข้าสู่การพัฒนาเชิงนโยบายระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป.