ดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นกลุ่มเปราะบางหลังได้รับเงิน 1 หมื่นบาท ที่ได้รับจากรัฐบาล ระบุช่วยบรรเทาภาระและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นพรรคพท.มากขึ้น ขณะที่ นิด้าโพล พบคนที่ได้รับ 1 หมื่น ส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่แน่ใจจะสนับสนุนรัฐบาลอุ๊งอิ๊งหรือไม่

     เมื่อวันที่ 6 ต.ค.67 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ระหว่างวันที่ 1-4 ต.ค.67 กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มเปราะบางผู้ได้รับเงินแล้ว จำนวน 845 คน (สำรวจทางภาคสนาม) พบว่า สถานะทางการเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีเงินไม่พอใช้และมีหนี้ ร้อยละ 46.75 จากเงินที่ได้รับได้นำไปใช้ซื้อของกินของใช้ ร้อยละ 47.00 โดยมองว่านโยบายนี้ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินได้มาก ร้อยละ 57.75 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอสมควร ร้อยละ 53.61 ส่งผลให้ค่อนข้างเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ร้อยละ 50.65 อยากให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนเพิ่ม คือ การเพิ่มเงินเดิน ค่าจ้าง สร้างงาน สร้างอาชีพ ร้อยละ 31.70 ทั้งนี้จากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ทำให้รู้สึกชื่นชอบพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.70
    
 น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินได้และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง โดยเงินส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นและชำระหนี้ โดยมีจำนวนไม่มากนักที่จะนำไปลงทุนต่อยอด แม้จะเห็นว่านโยบายนี้ช่วยเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลเพื่อไทย แต่ประชาชนยังคงต้องการเพิ่มค่าจ้าง การจ้างงาน และสร้างอาชีพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริงได้
     
ผศ.ศิริมา บุญมาเลิศ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ที่รัฐบาลแจก เงินสด 10,000 บาท ในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาเรื่องค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น โดยนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกันอย่างคึกคัก ทำให้ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล และทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามต้องจับตาดูต่อไปว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลจะมีมาตรการใดออกมาอีก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องและส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว
    
 ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง "รับเงินสด 10,000 บาท แล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 ต.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ทั้งตนเอง และ/หรือคนในครอบครัว ได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
    
 เมื่อถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวได้รับเงิน พบว่า ร้อยละ 86.79 ระบุว่า ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (รวมค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง) ร้อยละ 16.49 ระบุว่า เก็บออมไว้สำหรับอนาคต ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ใช้หนี้ ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ (เช่น ซื้อยารักษาโรค หาหมอ) ร้อยละ 8.24 ระบุว่า ใช้ลงทุนการค้า ร้อยละ 7.48 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ร้อยละ 1.37 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า  ร้อยละ 1.07 ระบุว่า ใช้ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 0.99 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และเครื่องมือสื่อสาร ร้อยละ 0.69 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง (เช่น เลี้ยงสังสรรค์ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เป็นต้น) ร้อยละ 0.31 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 0.15 ระบุว่า ใช้ซื้อทองคำ เพชร พลอย อัญมณี ร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ตอบ
    
 เมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวได้รับผลประโยชน์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 พบว่า ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร ร้อยละ 30.31 ระบุว่า มีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 20.38 ระบุว่า จะมีหรือไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 13.13 ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ