เปลี่ยนถ่าย ส่งผ่าน ไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการ” ของ “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต”

ก็เป็นไปตามที่วางตัวกันไว้แต่เดิม คือ “นายมาร์ก รึตเตอ” ซึ่งมารับไม้ต่อ เป็นเลขาธิการนาโตคนใหม่ ต่อจาก “นายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก” เลขาธิการนาโตคนเก่า เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยพิธีการส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการนาโตข้างต้น ก็มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม

นายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก (ซ้าย) ส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการนาโตคนใหม่ให้แก่นายมาร์ก รึตเตอ ที่สำนักงานใหญ่ของนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม (Photo : AFP)

ท่ามกลางบรรยากาศของการเปลี่ยนผ่าน เป็นไปอย่างชื่นมื่น

ถือเป็นการปิดฉากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการนาโตคนที่ 13 ของนายสโตลเทนเบิร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ที่มานั่งเก้าอี้เลขาธิการนาโต จนถือเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนาโตที่ยาวนานที่สุดคนหนึ่ง คือ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ. 2557) ถึงปี 2024 (พ.ศ. 2567) พร้อมกับเปลี่ยนผ่านไปสู่นายรึตเตอ อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ผู้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิกานาโตคนที่ 14 ต่อจากเขา

ทั้งนี้ หลังจากที่นายสโตลเทนเบิร์ก พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการนาโตไป ในวัย 65 ปี ก็ได้รับการคาดหมายว่า เขาหมายมั่นปั้นมือที่จะไปนั่งเก้าอี้ “ผู้ว่าการธนาคารกลางนอร์เวย์” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ของนอร์เวย์ นั่นเอง ซึ่งเหล่าบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า นายสโตลเทนเบิร์ก น่าจะได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ดังใจหมาย เพราะกล่าวถึงคุณสมบัติส่วนตัวของเขาแล้ว ก็ต้องถือได้ว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งของประเทศ จากการที่เขาจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออสโล มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของนอร์เวย์

ว่ากันถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนาโตคนใหม่ นั่นคือ นายมาร์ก รึตเตอ อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยแห่ง เนเธอร์แลนด์ วัย 57 ปีรายนี้ ก็ต้องนับว่า เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ แดนกังหัน มาอย่างยาวนานคนหนึ่งเหมือนกัน คือ เกือบ 14 ปีด้วยกัน นับตั้งแต่ตุลาคม ปี 2010 (พ.ศ. 2553) จนถึงกรกฎาคม ปี 2024 (พ.ศ. 2567)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ มาอย่างยาวนาน แต่ก็ต้องบอกว่า เขาลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ได้อย่างไม่สวยงามเท่าไหร่ เพราะต้องลาออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากรัฐบาลผสมของเขาล่มสลาย ล้มลงอย่างไม่เป็นท่า จากการที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอพยพเข้าเมือง จนทำให้เขาต้องลาออกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง ก่อนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่ของนาโต

พลันที่เขานั่งเก้าอี้เลขาธิการนาโตคนใหม่ ก็ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจทันทีในฐานะบิ๊กบอสขององค์การความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกองค์การนี้

ด้วยการเดินทางเยือนยูเครน ประเทศที่กำลังผจญชะตากรรมของสงครามมาอย่างยาวนานกว่า 950 วัน หรือ 2 ปีกว่า จนใกล้ที่จะย่างเข้าสู่ปีที่ 3 เต็มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากที่กองทัพรัสเซีย ภายใต้การสั่งการของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มีคำสั่งให้กรีธาทัพบุกข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตียูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นต้นมา ถึง ณ ปัจจุบัน สงครามการสู้รบก็ยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน พร้อมกับสร้างความสูญเสียไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ทางยูเครน สูญเสียหนักกว่าในฐานะที่เป็นสมรภูมิของสงครามเป็นส่วนใหญ่

โดยนายรึตเตอ เดินทางไปไปพบปะกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ถึงในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายมาร์ก รึตเตอ เลขาธิการนาโตคนใหม่ เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เพื่อพบปะกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน อย่างเซอร์ไพรส์ ทันทีที่รับตำแหน่ง (Photo : AFP)

ก็ต้องถือว่า เป็นการสร้างเซอร์ไพรส์ ความประหลาดใจให้แก่หลายฝ่ายมิใช่น้อย เพราะเป็นการเดินทางโดยที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า

นอกจากเป็นการเดินทางที่สร้างเซอร์ไพรส์แล้ว แม้แต่ประเด็นที่นายรึตเตอ เลขาธิการนาโตคนใหม่ ได้หารือกับประธานาธิบดีเซเลนสกี ก็สร้างความประหลาดใจเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะนอกจากที่จะให้กำลังใจแก่ผู้นำยูเครน และประชาชนชาวยูเครน ที่กำลังเผชิญหน้ากับภัยสงครามการสู้รบกับกองทัพรัสเซียแล้ว ทางเลขาธิการนาโตรึตเตอ ยังไปสร้างความมั่นใจให้แก่รัฐบาลเคียฟ เกี่ยวกับความพยายามของยูเครน ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโตอีกต่างหากด้วย ในระหว่างที่เขาพบปะหารือกับประธานาธิบดีเซเลนสกี

โดยนายรึตเตอได้แสดงท่าทีถึงการสนับสนุนในความพยายามของยูเครนดังกล่าว เพื่อป้องกันการรุกรานทางการทหารของรัสเซีย

อย่างไรก็ดี การสร้างความมั่นใจให้แก่ยูเครนของเลขาธิการนาโตคนใหม่ข้างต้น ก็ต้องบอกว่า หวนกลับมาเป็นประเด็นเผือกร้อนในมวลหมู่ชาติสมาชิกของนาโตมิใช่น้อย

ทั้งนี้ เพราะเมื่อกล่าวถึงความคิด ความเห็น ของเหล่าชาติสมาชิกนาโต ซึ่งมีอยู่ด้วยกันถึง 32 ประเทศนั้น ก็ต้องบอกว่า ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก เกี่ยวกับเรื่องที่จะรับ รือไม่รับ ยูเครน เข้าเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของนาโต ซึ่งมีความแตกต่างจากฟินแลนด์ และสวีเดน ที่ได้รับการรับรองให้เข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกนาโตไปเป็นที่เรียบร้อย ในสมัยของนายสโตลเทนเบิร์กที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการนาโตไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งสองประเทศ จะสามารถเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกนาโต ที่กล่าวได้ว่า ค่อนข้างจะสะดวก แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดอุปสรรคขัดขวางด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะสวีเดน ที่มีปัญหากับตุรเคีย ในเรื่องเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด แต่ทว่า สุดท้ายแล้ว ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตอย่างสมใจ

ส่วนกรณีของยูเครนนั้น เกิดความคิดเห็นแตกต่างในหมู่ชาติสมาชิก 32 ประเทศของนาโต โดยหลายประเทศสมาชิกก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะรับยูเครนเข้าไปสมาชิก เพราะหากรับเป็นชาติสมาชิก ก็มีภาระผูกพันตามกฎบัตรนาโต มาตรา 5 ที่ระบุว่า หากชาติสมาชิกนาโตชาติหนึ่งชาติใดถูกโจมตี ก็เท่ากับว่าชาติสมาชิกทั้งหมดของนาโตถูกโจมตี หรือถูกรุกรานไปด้วย ดังนั้น จึงไม่ผิดอะไรกับลากชาติสมาชิกนาโตทั้งหมด 32 ประเทศเข้าสู่สงครามกับรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ ที่หลายฝ่ายไม่อยากให้สงครามถลำไปสู่สถานการณ์เช่นนั้น เพราะไม่ผิดกับหายนะที่จะบังเกิดตามมา