จากกรณีชาวบ้านบนเกาะเต่า ตำบลเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เดินทางร้องขอความเป็นธรรม ต่อทนายชื่อดัง ทนายอนันต์ชัย เจ้าของฉายา “ทนายกระดูกเหล็ก”  ภายหลังมีข้อพิพาทกับกรมธนารักษ์  อ้างสิทธิ์ ซึ่งหลังตรวจสอบพยานหลักฐานในเบื้องต้น ทราบว่า ชาวบ้านได้เข้ามาอยู่อาศัยทำกินบนเกาะเต่าก่อนที่กรมธนารักษ์มาอ้างสิทธิ์ครอบครอง

 

วันที่ 5 ต.ค.67 ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช  พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่เกาะเต่าตามคำร้องเรียนเพื่อพิสูจน์ความจริงและช่วยเหลือชาวบ้าน ทันทีที่เดินทางถึงเกาะเต่ามีนางปราณี  เนียมปูน  อายุ 64 ปี และชาวบ้านให้การต้อนรับพร้อมพาทนายอนันต์ชัยไปดูซากกระเบื้องหลังคา วัสดุก่อสร้างและเศษซากไม้ของเรือนจำเก่า และบ้านไม้เก่าแบบโบราณหลังแรกของเกาะเต่า ซึ่งเป็นหลักฐานบางส่วนเพื่อยืนยันเป็นประจักษ์พยานต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ต่อกรมธนารักษ์  พร้อมทั้งสำรวจร่องรอยที่ตั้งของเรือนจำเกาะเต่าเก่าครั้งอดีต พื้นที่ 25 ไร่ อ้างอิงจากทะเบียนราชพัสดุ แปลงเลขที่ 34 กรมธนารักษ์และบันทึกบางส่วน จาก ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร  

ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน ทนายอนันต์ชัยพร้อมด้วย ดร.ประยุทธ  ประเทศเสนา เดินทางไปที่เทศบาลตำบลเกาะเต่า เพื่อประชุมร่วมกับนายกอบชัย  เสาวลักษณ์  อดีตกำนันตำบลเกาะเต่า พร้อมด้วยนางชไมพร  เสาวลักษณ์  รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า และตัวแทนชาวบ้านเกือบ 20 คน

ซึ่งภายหลังจากประชุมทนายอนันต์ชัย  กล่าวว่า “หลังจากได้รับการร้องเรียนจากนางปราณี เกี่ยวกับเรื่องที่ราชพัสดุบนเกาะเต่า ที่ชาวบ้านทำกินก่อนกรมราชทัณฑ์ ต่อมากรมธนารักษ์จะมาครอบครองโดยเฉพาะเป็นเรือนจำเก่ามี 25 ไร่ แต่หลังจากเลิกเรือนจำปี 2490 มีการออกสค.1  จำนวน 15,000 ไร่ ประมวลที่ดินใช้บังคับ 2497 ให้ราษฎรที่ทำกินไปแจ้งสิทธิ์ครอบครอง แต่กรมธนารักษ์ไปแจ้ง  จำนวน 15,000 ไร่ แทนที่จะแจ้งแค่ 25 ไร่ ตามที่เคยครอบครอง แต่ไม่ได้ครอบครองจริง ตามคำนิยามที่ราชพัสดุถ้าหากครอบครองอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ แต่ที่ ที่ไม่ได้ครอบครองเป็นที่รกร้างว่างเปล่า 

แต่ปรากฏว่าที่ของชาวเกาะเต่าทั้งหมดเขาครอบครองอยู่ทั้งหมดแล้ว ภาษาชาวบ้านคือกรมธนารักษ์มาแย่งสิทธิ์ครอบครองของชาวบ้าน  ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่มีอยู่จริง การขอโฉนดต้องสืบสิทธิ์ถึงออกโฉนดได้  แต่กฎกระทรวงฉบับที่ 43 จะต้องมีหนังสือเอกสารถึงออกโฉนดได้ กรมธนารักษ์แจ้งออกแล้ว ชาวบ้านจึงออกไม่ได้ในปี 2498 จึงเป็นข้อพิพาทตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ กระทั่งหน่วยงาน กอ.รมน. และตั้งคณะกรรมการกปล. และกรรมาธิการ 2 หน่วยที่เข้ามาทุกคนลงความเห็นว่า กรมธนารักษ์ ราชพัสดุ ออกที่ดินเกินกว่าที่ตนครอบครองจำนวน 25 ไร่ซึ่งเป็นเรือนจำเก่า  แต่ติดล็อกอยู่ที่กฎกระทรวงฉบับที่ 43 ว่าต้องมีหลักฐาน ชาวบ้านไม่สามารถออกโฉนดไม่ได้เลย 

ขณะนี้อยู่ในการฟ้องร้องของศาลปกครอง จึงยื่นคำร้องต่อทนายอนันต์ชัยเนื่องจากว่าต่อสู้มานาน 60 ปี  ทั้งนี้ทางทีมทนายอนันต์ชัยจะเสนอข้อเท็จจริงข้อกฎหมายซึ่งรวบรวมโดย ซึ่งรวบรวมโดยกอ.รมน.แม่ทัพภาค 4  ซึ่งถือว่ามีคุณูปการกับชาวเกาะเต่ามาก เอาพยานหลักฐานเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยกเลิกเพิกถอนแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ในส่วนที่บอกว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นสค.1 และให้มีการสืบสิทธิ์ตามข้อเท็จจริงด้วย โดยไปใช้มาตรา 59 ทวิ มาเป็นหลักในการออกสิทธิ์แก้เฉพาะบางส่วนโดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 230 ,231  ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่มีใครทำมาก่อน หากว่ามีการแข้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 43 แล้วจะเป็นคุณูปการกับที่อื่นๆด้วยที่ไม่มีหลักฐานแต่สืบสิทธิ์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ้าแก้ตรงนี้น่าจะไปต่อได้

ทั้งนี้ ทนายอนันต์ชัยกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้จะมีการยื่นหนังสือแก่สภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามว่าแนวทางแก้ไขที่เสนอนั้นจะเป็นอย่างไร หลังจากนี้จะรวบรวมรายชื่อชาวเกาะเต่าทั้งหมดทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้มาตรา 230, 231 ให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่ากฎกระทรวงฉบับที่ 43 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 59 ทวิ ในส่วนที่ต้องสืบสิทธิ์ตามข้อเท็จจริง ถ้าทำได้เกาะเต่าจะเป็นโมเดลที่อื่นที่ไม่มีหนังสือหลักฐานเป็นสค.1 ซึ่งจะเอาพ.ร.บ.ไปหักล้างกฎกระทรวงได้อย่างไร 

ด้านนายกาโย  อายุ 88   ปี  และนางปราณี อายุ 64 ปี ลูกสาวชาวบ้านร้องสิทธิ์บอกว่า พ่อ ปู่ ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยทำกินตั้งแต่ตนอายุ 13 ปี โดยย้ายมาจากเกาะสมุย ยึดอาชีพปลูกมะพร้าว ปลูกพืชผัก ทำประมง แต่ก่อนไม่มีใครมาร้องเรียนว่าเป็นที่ของธนารักษ์ พอทำมาหากินมีความเจริญงอกงาม จึงมาแจ้งสิทธิ์ว่าเป็นที่ของธนารักษ์ ซึ่งชาวบ้านเกาะเต่าเรามาด้วยความยากลำบาก  จริงแล้วของกรมธนารักษ์มีเพียง 25 ไร่ เมื่อมีการอ้างสิทธิ์ชาวบ้านทั้งเกาะจึงมีความเดือดร้อนจึงให้ทางทนายอนันต์ชัยเข้ามาช่วยเหลือชาวเกาะเต่า