“นฤมล” นำทีมกระทรวงเกษตรฯ ลุยน้ำท่วมอยุธยา  สั่งทุกหน่วยเร่งบรรเทาปัญหาโดยเร็วที่สุด 

วันที่ 5 ต.ค.67 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณวัดไชยวัฒนาราม อ.เมือง, วัดอินทาราม และประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน  นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11  นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ พร้อมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ

ปัจจุบัน (5 ต.ค.67) พื้นที่ทางตอนบนยังคงมีฝนตกอยู่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดระดับน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา  2,367 ลบ.ม./วินาที  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่  พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน  2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด  ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ในพื้นที่ ดังนี้

📍 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล   และบริเวณแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ 
📍จังหวัดอ่างทอง บริเวณคลองโผงเผง และ อ.ป่าโมก วัดไชโย อ.ไชโย
📍จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณวัดสิงห์  วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี , อ.เมือง , อ.พรหมบุรี
📍จังหวัดชัยนาท บริเวณ ต.โพนางดำ  อ.สรรพยา  ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-70 เซนติเมตร 

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ กรมชลประทาน รับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำผักไห่ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและสำรวจความต้องการของเกษตรกร หากมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นและมีความจำเป็นต้องระบายน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามข้อสั่งการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการรับน้ำเข้าพื้นที่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งผักไห่ ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 80% ของพื้นที่ โดยกรมชลประทาน จะพิจารณาระบายน้ำเข้าทุ่งให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์  เพื่อช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรในพื้นที่ลุ่มต่ำ