กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอคืนพื้นที่อาคารพาณิชย์ 35 คูหา ด้านทิศตะวันตกของสถานีรถไฟนครราชสีมา ริมถนนมุขมนตรี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-5 งานโยธา ช่วงสถานีโคกกรวด-สถานีนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟท. และมีเอกชนเช่าช่วงก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ช่วงต้นปี 67 ผู้เช่าส่วนหนึ่งอ้างอยู่อาศัยกว่า 35 ปี ไม่ยอมย้ายออกและยังต่อรองขอค่าขนย้าย ต่อมา รฟท.ได้นำป้ายประกาศไปติดหน้าอาคารที่มีข้อพิพาท ระบุ “รฟท.ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าลงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ขอแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ให้เช่าและให้ส่งมอบพื้นที่คืนในสภาพเรียบร้อย ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2567 หากไม่ดำเนินการจะใช้สิทธิดำเนินการฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายต่อไป” รวมทั้งนำแบริเออร์ไปปิดกั้นด้านหน้า แต่ก่อนครบเงื่อนเวลาผู้เช่าที่ดื้อแพ่งได้ขนย้ายทรัพย์สินออก เหลือผู้เช่ารายเดียว ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและวัตถุมงคล ฝ่ายกฎหมาย รฟท.ได้พยายามชี้แจงขอความร่วมมือแต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง พบปัญหาอุปสรรคไม่สามารถนำเครื่องจักรกลเข้าไปปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแนวเขตก่อสร้างสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ให้บริการรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ จึงต้องชะลอการรื้อถอน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบทั้งๆเป็นที่ดินของ รฟท. แต่ทำอะไรไม่เด็ดขาด โดยมีการฟ้องร้องตามกระบวนการศาลยุติธรรม ผู้เช่ายื้อเวลาได้กว่า 6 เดือน จนได้ข้อยุติ ผู้เช่ายอมย้ายออก

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า รฟท.ได้ประกาศจะดำเนินการรื้อ-ทุบอาคารด้านหน้าสถานีรถไฟนครราชสีมา (หัวรถไฟ) เพื่อดำเนินการตามขอบเขตงาน 1.งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทาง 12.52 กม. คันทางระดับดิน 7.85 กม. ทางยกระดับ 4.853 กม. 2.งานสถานีนครราชสีมา 3.งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบไฟฟ้า 4.งานรื้อย้ายต่างๆ รวมมูลค่า 7,750 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างได้ทยอยนำเครื่องจักรหนักมาลงพื้นที่ เตรียมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพื่อปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ให้บริการทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางคู่รวมทั้งเตรียมรื้อถอนอาคารสถานีเก่าอายุกว่า 80 ปี ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ความคืบหน้าโครงการได้ขยายสัญญาเพิ่ม 440 วัน สิ้นสุดวันที่ 25 มีนาคม 68