สตูล//ผู้ว่าฯ สตูลมอบวุฒิบัตรและเครื่องมือแก่ผู้ผ่านการฝึกอาชีพ 115 คน หวังสร้างโอกาสและรายได้มั่นคง
.
วันที่ 5 ต.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารอเนกประสงค์มัสยิดกลางควนโดน ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรและเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) ให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรม 6 หลักสูตร จำนวน 115 คน ตามโครงการเพิ่มทักษะแรงงานนอกระบบและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยมีนายพิบูลย์ รัชกิจประการ สส.สตูล เขต 1 นางสาววันวิสาข์ เพชรมณี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล ว่าที่พันตรียุทธนา เจ้าดูรี นายอำเภอควนโดน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสตูล ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้ผ่านการฝึกอบรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีมอบ พร้อมรับชมการสาธิตการตัดผมชายสไตล์วินเทจ จากผู้ผ่านการฝึกอบรมอีกด้วย
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล ดำเนินการฝึกอบรมภายใต้โครงการเพิ่มทักษะแรงงานนอกระบบและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ กิจกรรมพัฒนาทักษะแรงงานนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถเฉพาะบุคคลเพื่อการประกอบอาชีพ ประจำปี 2567 ให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แรงงานนอกระบบ ผู้รับจ้างทั่วไป และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีความหลากหลายสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องพัฒนาคนไทยตามช่วงวัยและมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การเพิ่มรายได้ การเพิ่มและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ พัฒนาแรงงานที่มีทักษะพื้นฐาน ให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือ
ซึ่งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล ได้กำหนดจัดพิธีมอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก ให้กับผู้ผ่านการอบรม 6 หลักสูตร จำนวน 115 คน ดังนี้ 1. หลักสูตรการปูกระเบื้องเคลือบ ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 20 คน , 2. หลักสูตรการเพ้นท์เล็บมืออาชีพ ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 20 คน , 3. หลักสูตรการทำขนมฟิวชั่น ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 20 คน , 4. หลักสูตรการซ่อมบำรุงอาคารพื้นฐาน ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 20 คน , 5. หลักสูตรการซ่อมระบบปรับอากาศรถยนต์ ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 20 คน และ6. หลักสูตรการตัดผมชายสไตล์วินเทจ ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 15 คน
.
ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 6 หลักสูตร จำนวน 115 คนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้นำความรู้ ทักษะและเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปสร้างโอกาสและเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีงานทำมีรายได้ที่มั่นคง สร้างรายได้หรือลดต้นทุนในการประกอบอาชีพให้แก่ตนเองและครอบครัว รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
.