หมายเหตุ : “จักรภพ เพ็ญแข” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 วิเคราะห์เจาะลึกต่อสถานการณ์ทางการเมืองของ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล จะเดินหน้าบริหารประเทศ จนครบเทอม โดยไม่ติดกับดักทางการเมืองที่ยังรออยู่เบื้องหน้า 

- รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ที่มารับช่วงต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พบว่าในช่วงของการปรับเปลี่ยนนี้ มีนโยบายหลายเรื่องที่มีความสำคัญ รวมถึงประเด็นเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเรื่องของจริยธรรม แต่ล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ถอยเรื่องร้อนคือการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว จุดนี้สะท้อน เรื่องของสถานะหรือดุลอำนาจทางการเมือง หรือรัฐบาลเลือกที่จะฟังเสียงประชาชน

หากตัดสินจากการพูดหรือการออกข่าว หรือการนำเสนอบุคคลในรัฐบาลใหม่ มีลักษณะของคนที่มาใหม่ ซึ่งยังต้องปรับตัว ตามประสาของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากนายกฯก็ยังใหม่ รัฐมนตรีหลายท่านก็ยังใหม่ ถึงจะมีคนเก่าอยู่บ้างก็ตาม

แต่ผมอยากให้มองไปที่ความสำเร็จในขั้นแรกของนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการแจกเงินหมื่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งถูกปรามาสมากกว่าจะไม่มีวันได้เห็นเงินหมื่นหรอก  ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ก็สามารถแจกกันได้เป็นลอตใหญ่ จากนั้นประชาชนก็นำเงินที่ได้ไปบริหารจัดการกันต่อว่า จะไปจับจ่ายใช้สอยที่ไหนบ้าง  จึงเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย

ดังนั้นหากมองย้อนหลังกลับไป จะเห็นว่ารัฐบาลเริ่มเข้าที่แล้ว กระบวนการในการสั่งการ การใช้อำนาจ และการติดตามงาน น่าจะเริ่มทันที

-ถึงแม้จะมีการถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีการเปลี่ยนชื่อโครงการ จากเดิมที่เป็นดิจิทัลวอลเล็ต

โครงการต่างๆ มักจะมีชื่อจริง และชื่อเล่นเสมอ หากเราเอาชื่อที่ประชาชนเรียกติดปาก ยกตัวอย่างเช่นโครงการ30 บาทรักษาทุกโรค  เรื่องกองทุนหมู่บ้าน เรื่องโอท็อป หรือทำสงครามกับยาเสพติด จะเห็นว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในชื่อที่เป็นทางการของโครงการเลย  เพราะชื่อโครงการที่เป็นทางการนั้น ก็คงจะต้องให้มีความสัมพันธ์กับชื่อ หรือข้ออ้างดั้งเดิม ตามงานราชการที่ผ่านมา ส่วนชื่อเล่นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  เหมือนชื่อดิจิทัลวอลเล็ต ที่เราเรียกกันติดปาก

- สำหรับนักร้องที่เตรียมไปร้อง จะต้องมาดูกันอีกหรือไม่ว่าชื่อโครงการที่จะไปร้องนั้นไม่ตรงปก

ในเรื่องนักร้อง ผมว่าไม่มีปัญหา เราจะไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะมีสิทธิร้องได้ตามรัฐธรรมนูญ  แต่ขณะเดียวกัน ความสำคัญมันอยู่ที่ว่ากระบวนการอื่นๆในรัฐธรรมนูญ จะให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนมากแค่ไหน  เนื่องจากนโยบายที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ ต้องการที่จะให้ตรงไปยังพี่น้องประชาชน ถ้าหากมีการร้องกันมาก มีการติงกันมาก อย่างไม่เป็นธรรม ก็จะเท่ากับว่าเป็นการขัดขวางผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนโดยตรง

เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงอยากขอร้องกันว่ากระบวนการที่อยู่ในระบบทั้งหมดนี้ ก็ต้องรับฟังเสียงที่มาจากรอบด้านด้วย และใช้ความถูกต้องในเชิงกฎเกณฑ์ประกอบเข้าด้วยกัน ต้องมีดุลยภาพ เป็นการใช้อำนาจโดยฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งทั้งหมดไม่ได้

-จังหวะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สะดุดไป

คิดว่าเป็นความฉลาดของรัฐบาล ที่จะต้องเลือกเรื่องที่ทำให้เหมาะสมกับสภาพ และสถานการณ์ ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ เคยให้ความเห็นส่วนตัว เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในรัฐบาล ว่าบางเรื่อง ไม่ควรคิดแก้ไขหรือคิดทำในตอนนี้ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางลบเช่นกันว่ารัฐบาลจะกลืนน้ำลายตัวเอง จะตระบัดสัตย์ อีกหรือไม่ แต่ผมอยากจะบอกว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ไม่เหมือนกับตอนที่เป็นพรรคการเมือง หรืออยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ต้องการให้ความหวังกับคน แล้วบอกกับประชาชนว่าวันหนึ่งเราจะทำเรื่องนี้

แต่เมื่อมาบริหารจริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องของการพลิกลิ้น แต่เป็นเรื่องการกำหนดลำดับความเร่งด่วน ว่าอะไรจะมาก่อน มาหลัง ซึ่งตรงนี้ รัฐบาลจะต้องเอาเรื่องที่เกิดขึ้นมาคิดในขณะที่ทำ พูดง่ายๆคือรัฐบาลอาจจะอยากแก้รัฐธรรมนูญเดี๋ยวนี้เลย แต่เมื่อดูแล้วองคาพยพทั้งหลาย มันไม่พร้อม และถ้าหากจะดึงดันทำต่อไป ก็อาจจะเสียแนวที่สนับสนุนการทำนโยบายด้านอื่น ตรงนี้รัฐบาลก็ต้องถอยก่อน ซึ่งจุดนี้ผมคิดว่า ตรงนี้ต้องถือว่ารัฐบาลมีความสามารถในการปรับตัว  มีความยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม

ผมอยากเตือนว่า การที่หลายคนพูดถึงรัฐธรรมนูญ แต่บางทีลืมว่ามันคืออะไร รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุด ที่ระบุข้อตกลงระหว่างคนไทยทั้งชาติ ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ความสัมพันธ์แห่งอำนาจ  ความสัมพันธ์ทางความรับผิดชอบ มันจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ของที่ทำได้ทุกเมื่อที่ต้องการจะทำ หรือต้องการจะแก้เฉพาะสิ่งที่กลุ่มตนเองต้องการจะแก้ ซึ่งรัฐธรรมนูญทำอย่างนั้นไม่ได้

รัฐธรรมนูญนั้นไม่ว่าจะมาตราใดต่างมีความยึดโยง กับมาตราอื่นๆทั้งฉบับ  ดังนั้นหมายความว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะต้องนำมาประเมินผลในเวลาที่บ้านเมือง มีความสมานฉันท์พอสมควร มิฉะนั้นตัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง จะนำไปสู่ความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น

- วันนี้หากให้ประเมินระดับของความสมานฉันท์ในประเทศไทย หรือในแวดวงการเมือง วันนี้เป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าเรายังเริ่มนับหนึ่งกันอยู่ บ้านเมืองยังมีความขัดแย้ง ยังมีการเผชิญหน้า ยังมีความตึงเครียดระหว่างกันสูงทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นการสั่งสมความรู้สึกที่ต่อเนื่องมา กว่า 20 ปีแล้ว ทำให้เกิดการมองโลกที่ต่างกัน บางทีครอบครัวเดียวกัน ข้อมูลชุดเดียวกัน แต่มองโลกด้วยแว่นตาที่แตกต่างกัน

อย่างเช่นการมองอย่างเสรีนิยม กับอนุรักษ์นิยม วันนี้มีความชัดเจนอย่างมากว่ากำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ถึงแม้เราจะพูดว่าประเทศไทยไม่ค่อยสนใจอุดมการณ์แบบตะวันตก แต่วันนี้มีความชัดเจนมากว่ากำลังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อผมกลับมาแล้ว ก็ใช้เวลาในการซึมซับ บรรยากาศทางการเมืองไทย ยอมรับว่า อยู่ที่ต่างประเทศ 15 ปีก็ไม่เคยทิ้งเมืองไทยเลย ติดตามข่าวสารมาก แต่การติดตามแตกต่างจากการซึมซับ เมื่อกลับมาแล้วจึงซึมซับได้ ถึงบรรยากาศปัญหาทางการเมือง

ซึ่งเมื่อได้สัมผัสทั้งหมด และประมวลทั้งหมดแล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า เราจะต้องมีความอดทนอดกลั้น ในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคนข้างไหน ของความขัดแย้งก็ตาม เพื่อที่จะนำไปสู่การยอมรับของคนอื่น และความร่วมมือกันก็อาจจะตามมา

-ด้วยบริบทต่างๆในชั่วโมงนี้ ยังมีโอกาสหรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน  เนื่องจากมีการพูดกันมากว่า เวลานี้พรรคเพื่อไทยมาเป็นหัวขบวนของอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อที่จะสู้กับพรรคประชาชน แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งสองพรรคจะสามารถไปจับมือกันได้หรือไม่

ทางการเมืองนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ บางทีเป็นไปไม่ได้ในช่วงหนึ่ง แต่กลับเป็นไปได้ในอีกช่วงหนึ่ง ใครจะนึกว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จะมาอยู่ด้วยกัน ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เหมือนเป็นเรื่องตลก เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ทุกอย่าง ขอให้ทำใจว่านี่คือภาวะนิวนอร์มอล ภาวะปกติใหม่

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ แต่ในความเป็นไปได้นั้นไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจของ คนเพียงไม่กี่คนแต่เป็นการตัดสินใจของสังคม ซึ่งถ้าหากบรรยากาศทุกอย่างมันดีขึ้น ผมคิดว่าต้องรวมถึงการถอยบางก้าว ของทุกฝ่าย จะทำให้เกิดพื้นที่กลาง หรือพื้นที่ร่วมกันมากขึ้น

-คำว่าถอยบางก้าวนั้น หมายความถึงเรื่องจุดยืน มาตรา 112 ด้วยหรือไม่

คิดว่าทุกเรื่อง เพราะมาตราใดของรัฐธรรมนูญ ก็หมายความถึงจุดยืนของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆด้วย ดังนั้นเราคงต้องมีความเห็นตรงกันว่า คนไทยในปัจจุบันและในอนาคต เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร  หากจะพูดแบบแรงๆ แต่เป็นคำไทยเดิม คือจะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไร นี่คือคำที่จะใช้เป็นเจตนารมณ์ขั้นต้นเลย ในการยกร่างหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง

ผมขอพูดย้ำว่า มันคือความสัมพันธ์แห่งอำนาจ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ไม่เล็ก ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการ ไม่ใช่เรื่องของคนที่บ้าการเมือง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องมานั่งคิดกันว่า ประเทศไทยนี้จะมีข้อตกลงร่วมกันอย่างไร ในหมู่คน เหมือนสหรัฐฯมีข้อตกลง ว่ามีกฎเกณฑ์ระดับชาติ แต่ขอให้แต่ละมลรัฐไปคิดกฎเกณฑ์ที่ละเอียดของตนเอง 

ฉะนั้นคนอเมริกัน จึงไม่ค่อยสนใจกฎหมายระดับชาติ เพราะชีวิตเขาอยู่กับกฎหมายระดับท้องถิ่นมากกว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องระบุเอาไว้ว่า ประเทศนั้นหรือรัฐนั้นเป็นอย่างไร

 -แนวทางการนิรโทษกรรม มาตรา112  

ผมเองถูกวิพากษ์วิจารร์อย่างมาก จากคนที่เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันมาก่อน ว่าทรยศหรือหักหลังหรือถอยจากจุดยืน ผมยอมรับว่าเรื่องเปลี่ยนไปนั้น เปลี่ยนไปจริง แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะต้องการออกห่างจากจุดยืน หรือผลประโยชน์ของประชาชนเลยแม้แต่น้อย ผมยืนยันได้ ผลประโยชน์ของประชาชนขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ทางการเมือง

ผมมาถึงจุดในชีวิตที่คิดว่า ความขัดแย้ง การเผชิญหน้ากันทางการเมือง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชน  แต่ผลประโยชน์ของประชาชน จะมาจากความสงบ สันติ แล้วสามารถบริหารประเทศเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้  เราต้องยอมรับว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาในช่วง 20ปี เมื่อใดก็ตามที่มีม็อบชนม็อบ เกิดสงครามสี เกิดรัฐประหาร เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะแข็งแรงหรือไม่ ระยะที่รวมกันเกินครึ่ง ในห้วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญเท่าที่ควร

ผมพูดได้เลยว่าถ้าไม่มีการรัฐประหารในปี 2549 บัดนี้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาเซียนไปแล้ว เพราะในเวลานั้นผมอยู่ในที่เกิดเหตุ ในฐานะรองเลขาธิการนายกฯ ซึ่งได้เห็นเลยว่าประเทศไทยกำลังจ่อเลย ตอนนั้นหลายประเทศในอาเซียนกำลังมาหาเราแล้ว ในฐานะเป็นลูกไก่ ขอที่จะอยู่กับแม่ไก่ โดยที่เขาเอง เราไม่ต้องไปแผ่อิทธิพลอะไรเลย

แต่พอเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจก็เท่ากับว่าเราขัดขาตัวเองหกล้ม  จากนั้นมาเราก็หกล้ม หกลุกมาเรื่อย จนกระทั่งมาถึง 20กว่าปีนี้ ซึ่งน่าเสียดายมาก

- ดังนั้นในบรรยากาศแบบนี้หากให้ประเมิน ช่วงของรัฐบาลนี้ที่มีอายุเหลืออยู่ประมาณเกือบ 3 ปี จะมีโอกาสได้เริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญจนสำเร็จหรือไม่

ผมมีความหวังเต็มเปี่ยม และไม่ได้พูดแบบโฆษณาชวนเชื่อด้วย ลองดูในเรื่องของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่วุ่นวายมาเป็นปี แล้วมาถึงรัฐบาลนายกฯแพทองธาร กลับสามารถบริหารจัดการให้ออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่วัน หลังจากเข้ารับตำแหน่ง เพราะฉะนั้นนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แสดงว่าจับจุดถูกแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะจับจุดถูกทั้งหมด มันถูกบางเรื่อง ซึ่งเราต้องศึกษาว่าที่ถูกนั้น ถูกอย่างไร

อย่าลืมว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตนั้นไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมือง กับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีระบบราชการ มีภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องราชประชาสมาศัย ที่จะให้นโยบายหนึ่งๆ มันออกมาจนสำเร็จ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจุดเริ่มต้นจากดิจิทัลวอลเล็ต น่าจะเป็นการบอกได้แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำงานเข้าเป้าได้อย่างรวดเร็ว และตรงใจประชาชนกว่าที่ผ่านมา

-สรุปว่าทั้งการถอยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต กลายเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อตัวรัฐบาล

ใช่ครับ แต่แน่นอนว่าเสียงวิจารณ์ต้องมี แต่สุดท้ายรัฐบาลต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ในทางการเมืองรัฐบาลมีอำนาจในการตัดสินใจ นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องแบกความรับผิดชอบไปด้วย ถ้าจะมีใครมาวิจารณ์ว่าถูกหรือไม่ ควรหรือไม่ควร รัฐบาลต้องรับเอาไว้ทั้งหมด แต่รัฐบาลก็ต้องเตือนสังคมเช่นเดียวกันว่า ที่ทำทั้งหมดนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ทีนี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเมื่อตอนเลือกตั้ง หรือแม้แต่ก่อนเลือกตั้ง ผ่านโพลต่างๆ ประชาชนคิดว่ารัฐบาลกำลังทำถูกต้องหรือไม่ ถูกทิศทางหรือไม่ นี่คือแฟร์เกม เกมที่ทุกคนเล่นกันได้อย่างยุติธรรม

-มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจะอายุสั้น นายกฯมือใหม่ ซื้อใบขับขี่มา กระแสต่างๆเหล่านี้จะทำให้ภาคต่างๆเกิดอาการเกียร์ว่างหรือไม่

มันอยู่ที่ความสามารถในการบริหาร ผมเองเคยมีโอกาสอยู่ในรัฐบาลหลายชุด และเคยอยู่ในรัฐมนตรีด้วย พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าอยู่ที่การบริหาร ไม่มีใครเกียร์ว่าง กับคนที่มุ่งมั่นจะทำงานได้ วิธีการจะเข้าเกียร์ว่างมีไม่กี่วิธี อาทิ ส่งเรื่องไปแล้วหาย บอกว่าขอเวลาหาข้อมูล หรือตั้งคณะกรรมการต่างๆขึ้นมา ฉะนั้นหากเรามีเป้าหมายการทำงานให้เกิดผลสำเร็จจริงๆแล้ว เราสามารถทำได้

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมว่าเราอยากได้ความร่วมมือจาก ระบบราชการ เพราะเป็นเหมือนพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  เรื่องนี้เราไม่ปฏิเสธ เพราะมันคือความจริงในเมืองไทย  ขณะเดียวกันอาจมีด้านดี คือการทำงานในลักษณะของการประสานประโยชน์ทำได้ดีขึ้น มันมีสองด้าน ฉะนั้นเรื่องของการเข้าเกียร์ว่าง ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับผู้บริหารที่สามารถบริหารงานได้

- เท่าที่ประเมินดูแล้วยังเชื่อมั่นว่า นายกฯแพทองธาร จะสามารถฝ่ากับดักต่างๆไปได้

หากดูจากการเดินหน้าโครงการแจกเงินหมื่น  ก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมาก แต่ก็ไม่อยากให้ประมาท เพราะยังมีกับดักอีกหลายชนิด  อย่างเช่น การที่จะมีนักร้องพยายามให้เรื่อง ถูกรับโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย  ซึ่งจะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ เราไม่ทราบเลย บางครั้ง ลม ฝน คลื่น มาพร้อมกันก็เกิดเป็นพายุได้ ในเวลา ที่เราคาดไม่ถึง เหมือนตอนที่อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่ง

ประการต่อมาเรามองเห็นภาพว่า จะมีการปรับตัวของอำนาจเดิมในประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้ผมคิดว่าเราสื่อสารกันได้ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ผมเคยเข้าร่วมในความขัดแย้งด้วย  เมื่อก่อนผมอยู่ในซีกความขัดแย้ง แต่วันนี้ ผมมาอยู่ในซีกของความร่วมมือ และการประสานประโยชน์ ฉะนั้นผมจึงเอาประสบการณ์ความขัดแย้งมาใช้ เพื่อให้การประสานประโยชน์มันเป็นไปอย่างนุ่มนวล  และแนบเนียนที่สุด  ตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลอยู่สั้นหรืออยู่ยาว

ประการที่สามผมคิดว่ามีความสำคัญมาก คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยไทยต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศหลักๆ แค่ประเทศที่อยู่รอบประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เต็มทีแล้ว อย่างกรณีเมียนมาที่มีความขัดแย้งรุนแรง เกิดสงครามกลางเมือง ขณะที่ลาวเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ กัมพูชามีปัญหาเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ส่วนมาเลเซียยังมีเรื่องของการเจรจาคนสองสัญชาติ ที่ยังต่อเนื่องกันอยู่ ทั้งหมดนี้คือเรื่องประจำ ไม่ใช่เรื่องแปลกของประเทศที่มีพรมแดนติดกัน

แต่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และต้องคอยวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศ ไว้ตลอดเวลา  ซึ่งที่ผมค่อนข้างสบายใจคือการที่รัฐบาลประกาศชัดเจนว่ารัฐบาลของเราเป็นลักษณะ อันคอนฟริกซ์ หมายความว่าเราไม่ต้องการเข้าร่วมในความขัดแย้ง กับใครทั้งสิ้น เราจะไม่เดินหน้าหาเรื่องใคร โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ