ฝันของคนตราด!ใกล้จะเป็นจริง หลังจากที่ “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” (กทพ.) เตรียมที่จะผุด “สะพานเชื่อมเกาะช้าง" วงเงิน กว่า 1.5 หมื่นล้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนระหว่างแผ่นดิน กับ เกาะช้าง ส่งเสริมเศรษฐกิจ การคมนาคม ,ระบบสาธารณูปโภค  และการท่องเที่ยว           

โดย "โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด" ได้รับการตอบรับจากประชาชน จากการทำประชาพิจารณ์ถึง ร้อยละ 95 สนับสนุนเต็มที่!!

ทั้งนี้ “นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข”  ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การทางพิเศษฯกำลังเดินหน้า "โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด" ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง และคุมงาน 13,000 ล้านบาท และค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,000 ล้านบาท โดยเป็นการเวนคืนที่ดินทั้ง 2 ฝั่งของโครงการ ซึ่งจะทำการศึกษา วันที่ 31 พ.ค.67- พ.ค.69  ระยะเวลาศึกษา 720 วัน พร้อมกับจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่พร้อมกัน และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรูปแบบการร่วมลงทุนโครงการฯภายในกลางปี 70 ทั้งนี้คาดว่าโครงการฯจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 71 โดยเป็นการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และเริ่มก่อสร้างภายในปี 72 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 76

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดเชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด โดยการก่อสร้าง 4 ช่องจราจร แบ่งเป็นขาไป 2 ช่องจราจร และขากลับ 2 ช่องจราจร ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้น มีแนวเส้นทาง 4 ที่มีความเป็นไปได้ ดังนี้ 1.จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณกม.0+ 850 บ้านหนองปรือ ตำบลแหลมงอบ และไปเชื่อมเข้ากับถนนอบจ.ตร . 10026 บริเวณกม.8+550 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้างระยะทาง 9.82 กิโลเมตร ,2.จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางจะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับแนวเส้นทางเลือกที่ 1 แต่เหนือเส้นทางจะไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.6+750 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง มีระยะทางรวม 9.95 กิโลเมตร ,3.จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร. 4006 บริเวณกม.2+840 บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ และไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร. 10026 บริเวณกม.5+300 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง มีระยะทางรวม 5.90 กิโลเมตร และ4.จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร. 4006 บริเวณกม.3+500บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ และไปเชื่อมเข้ากับถนนอบจ.ตร. 10026 บริเวณกม.1+900 ในเขตพื้นที่บ้านคลองสน ตำบลเกาะช้าง มีระยะทางรวม 5.59 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามหากโครงการดังกล่าวสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางจากเดิมการรอขึ้น-ลงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เหลือเวลาเพียง 10 นาที

"การตอบรับของประชาชนในจังหวัดตราด และประชาชนที่อยู่บนเกาะช้าง จากการทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมา ให้การสนับสนุนโครงการฯถึงร้อยละ 95 เพราะเชื่อว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสาธารณูปโภคได้มากขึ้น อีกทั้งการก่อสร้างจะเป็น 4 ช่องจราจร แบ่งเป็นขาไป 2 ช่องจราจร และขากลับ 2 ช่องจราจร โดยรถที่สามารถใช้ได้จะเป็นรถ 4 ล้อขึ้นไป ส่วนรถจักรยานยนต์ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความเห็นอยากให้ กทพ.เพิ่มช่องจราจรให้แก่รถจักรยานยนต์นั้น เรื่องนี้กทพ. จะรับไปพิจารณาด้วย หากดำเนินการได้จะถือเป็นทางด่วนสายแรกในภูมิภาคที่เปิดให้รถจักรยานยนต์สามารถใช้บริการได้ และตั้งเป้าหมายให้ทางเชื่อมเกาะช้างสายนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับที่ 2 เหมือนกับเกาะสมุย"

นายสุรเชษฐ์ กล่าวถึงคาดการณ์รายได้ผลการดำเนินงานปี 2567 ว่า  คากการณ์รายได้จากค่าผ่านทาง 13,319.29 ล้านบาท ,รายได้จากสัญญาสัมปทาน 4,994.53 ล้านบาท และรายได้อื่น 955.85 ล้านบาท รวมเป็นรายได้ 19,446.36 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายบุคลากร 3,455.67 ล้านบาท และรายจ่ายอื่น ๆ 6,026.05 ล้านบาท รวมเป็นรายจ่าย 9,481.72 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 9,961.64 ล้านบาท

นอกจากนี้กทพ.ยังมีโครงข่ายทางพิเศษในระยะ 10 ปี แบ่งเป็น โครงการทางพิเศษในระเร่งด่วน (ลงนามสัญญาก่อสร้างภายในปี 2568) ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3–ดาวคะนอง –วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ,โครงการทางพิเศษระดับขึ้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9)  ,โครงการทางพิเศษ ฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ,โครงการทางพิเศษจังหวัดภเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ,โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก (N2 เดิม) โครงการทางพิเศษในระยะเร่งด่วน (ลงนามสัญญาก่อสร้างภายในปี 2569-2570) ได้แก่ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ , โครงการทางพิเศษในระยะเร่งด่วน (ลงนามสัญญาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป) ได้แก่ โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง และโครงการพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จ.วสุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ. ตราด

อีกไม่นาน ความเป็นอยู่ ของประชาชนที่อยู่บนเกาะช้าง กับแผ่นดิน จะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เม็ดเงินทางเศรษฐกิจจะสะพัด!!

แต่อย่าลืม!! ความเป็นธรรมชาติ ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ทุกอย่างต้องสมดุล!!