สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

"พระครูธรรมานุกูล หรือ หลวงปู่ภู จนฺทเกสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร พระเกจิ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังรูปหนึ่งในยุคนั้น และยังเป็นศิษย์เอกผู้ใกล้ชิดท่านเจ้าประคุณสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาและวิทยาอาคมต่างๆ มากมาย วัตถุมงคลของท่านนอกเหนือจาก "พระสมเด็จหลวงปู่ภู" ที่เป็นยอดนิยม และเป็นที่เสาะแสวงหาแล้ว ยังมี "ไม้ครู หลวงปู่ภู" ที่ถือเป็นสุดยอดเครื่องรางของขลัง ที่ได้รับการยอมรับและยกย่อง จากนักสะสมเครื่องรางของขลังในยุคเก่าๆ ให้เป็นหนึ่งในชุด "9 เครื่องรางมงคลคู่แผ่นดิน" ดังบทกลอนต่อไปนี้

"หมากดี ที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลัง วัดนายโรง

ไม้ครู คู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบิน วัดหนองโพ

พิสมร วัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้าย วัดโตนดหลวง

ราหู คู่วัดศีรษะ แหวนอักขระ วัดหนองบัว

ลูกแร่ ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน

เก้าสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา

ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาแผ้วพานฯ"

การจัดสร้าง "ตะกรุดไม้ครู" หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "ไม้ครู" ของหลวงปู่ภูนั้น นับว่า ยากมากๆ เรียกว่า ผู้ที่มีบุญวาสนาเท่านั้นจึงจะสร้างได้สำเร็จ วัสดุที่ใช้สร้างก็สุดแสน จะหายาก ท่านต้องเดินธุดงค์เข้าไปในป่าลึก เพื่อจะไปหาไม้ไผ่ และจะต้องเป็นไม้ไผ่สีสุกที่ถูก ฟ้าผ่าล้ม ปลายชี้ไปทางทิศตะวันออกเท่านั้นถึงจะใช้ได้

ตามตำราระบุว่า ไม้ไผ่ลำนี้เปรียบประหนึ่งไม้ยันพระวรกายของท่านท้าวเวสสุวรรณ จากนั้นภายใน 7 วัน ท่านต้องเฝ้ารอโขลงช้างที่จะผ่านมาพบ แล้วกระโดดข้ามกอไผ่นั้นทั้ง โขลง นอกจากนี้ ก่อนที่ท่านจะตัดไม้ไผ่ลำดังกล่าวได้ ท่านต้องทำพิธีพลีกรรมก่อน นั่นคือ การขอของจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่า เจ้าเขา รุกขเทวดา เพื่อเพิ่มความเข้มขลังให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว ท่านจะนำมาลงอักขระ แล้วใช้เป็นไม้เท้ายันกายในยามที่ท่านเดิน ธุดงค์ ขณะที่ท่านเดินธุดงค์ เมื่อได้พบศพที่ "ตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร" ก็จะใช้ไม้เท้านั้นจิ้ม ศพจนกว่าจะครบ 7 ศพ ตลอดระยะเวลาในการเดินธุดงค์ของหลวงปู่นานถึง 30 ปี จากนั้นท่านก็จะนำไม้เท้าอันนี้มาผ่าให้เป็นแผ่นเล็กๆ เรียกว่า "ตอก" เตรียมไว้สำหรับลงพระนามที่ได้รับจากเบื้องบน

ถ้าลูกศิษย์คนใดอยากได้ "ไม้ครู หลวงปู่ภู" จะต้องขอท่านก่อนวันเสาร์ และถ้าท่านตอบ ตกลงทำให้แล้ว ผู้นั้นจะต้องจัดเครื่องไหว้ทำพิธี ซึ่งมีบายศรี หัวหมู มะพร้าวอ่อน และอื่นๆ ตามแต่ที่หลวงปู่จะสั่ง แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ไม้ไผ่ตัดเหลือข้อไว้หนึ่งข้อ หรือไม้ที่เจาะรู ซึ่งโดย ส่วนใหญ่จะใช้ไม้พะยูง ไม้ขนุน หรือ ไม้รักซ้อน เมื่อได้ของครบแล้ว ท่านก็จะทำพิธีลง พระนามในไม้ตอกที่ท่านเตรียมไว้

การทำพิธีลงพระนาม หลวงปู่ภูจะมองขึ้นบนฟ้าครั้งละนานๆ เคยมีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ถามท่านว่า "ทำไมหลวงปู่ต้องมองขึ้นไปบนท้องฟ้า" ท่านตอบว่า "รอพระนามจากเบื้องบน" เมื่อได้พระนามจากเบื้องบนแล้ว ท่านก็จะบรรจุลงพระนามเข้าไปในไม้ที่เจาะเตรียมไว้ บางอันอาจจะบรรจุกระดูกแร้งลงไปด้วย แล้วอุดด้วยชันโรงใต้ดิน (ขี้สูตรดินราบ) ตอกด้วยลิ่มไม้ปิดเอาไว้ และลงอักขระทับอีกที ถือเป็นอันเสร็จพิธี นับว่าขั้นตอนการสร้างยากมากจริงๆ

ตามตำรายังชี้ไว้ว่า ประจุด้านเดียวเรียก "ไม้พ่อครู" ประจุสองด้านเรียก "นิ้วเพชรพระอิศวร (ชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็น)"

พุทธคุณของ "ไม้ครู หลวงปู่ภู" เชื่อกันว่าครอบจักรวาล ป้องกันตัวเมื่อยามคับขัน ป้องกันโจรผู้ร้าย แก้คุณไสย ห่างไกลภูตผีปีศาจ ฯลฯ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ถือครอง

ประการสำคัญ ท่านจะกำชับนักหนาแก่ผู้ที่ได้รับไม้ครูของท่านว่า "ห้ามเอาไปตีใครเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ถูกตีถึงกับเสียจริต (เป็นบ้า) รักษาไม่หายทีเดียว" ครับผม