ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“สังคมใดที่ยังมีชนชั้นและการกดขี่ อาจจะมีความมั่นคง แต่จะขาดเสรีภาพและความก้าวหน้า”
ไม่น่าเชื่อว่าข้อความข้างต้นจะออกมาจากปากของอดีตทหารเก่า ที่มีการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เติบโตมาในชนบท และเป็นทหารมาจนเกษียณราชการ แต่นี่คือสิ่งที่เขาชอบพูดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเวลาที่ “เหล้าเข้าปาก” ที่เพื่อน ๆ ที่ร่วมวงสนทนาจะพากันเบื่อ แต่เขาก็ยังยืนยันว่านี่คือ “ปรัชญาชีวิต” และเป็นปรัชญาชีวิตที่เขาได้พบเห็นมาในประสบการณ์การเป็นทหารเกือบ 4๐ ปีนั้น
ใคร ๆ ก็เรียกเขาว่า “จ่าขจร” ทั้ง ๆ ที่ชื่อเต็ม ๆ คือ “ขจรศักดิ์” ส่วนยศทหารที่อยู่ข้างหน้าจริง ๆ นั้นคือ “พันจ่าอากาศเอก” แต่ทุกคนเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า “จ่า” ตามความถนัดปาก ซึ่งเขาก็ไม่หงุดหงิดอะไร ทั้งยังบอกกับใครที่ทักท้วงว่าทำไมจึงยอมให้คนเรียกผิด ๆ ทั้งชื่อและยศนั้นว่า “ผมไม่ยึดติด ยศเป็นเพียงหัวโขน ยิ่งเป็นทหารด้วยแล้ว โขนพวกนี้น่าจะเป็นโขนยักษ์” ซึ่งเมื่อได้คุยกับเขาไปสักระยะหนึ่งแล้ว จึงได้รู้ว่าอะไรที่ทำให้เขามองทหารเป็น “ยักษ์”
บ้านจ่าขจรอยู่ริมชายคลองบางบัว ซึ่งเป็นชุมชนแบบที่เรียกว่า “สลัม” หรือชุมชนแออัด โดยอยู่กันมาตั้งแต่ยุคที่มีการก่อสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งพอปีต่อมาก็เกิดกบฏบวรเดช ตอนนั้นพ่อของจ่าขจรเป็นทหารจากโคราชในสังกัดของพระองค์เจ้าบวรเดช ถูกเกณฑ์ให้มายึดตัวพระนคร(คือชื่อเรียกกรุงเทพฯในสมัยก่อน)คืนจากคณะราษฎร พอรถไฟลงมาถึงสถานีหลักสี่ รัฐบาลของคณะราษฎรก็ได้ส่งทหารขึ้นมาสกัด เกิดการสู้รบอยู่ครึ่งเดือน ทหารของกบฏก็ยอมแพ้ พวกนายทหารถูกจับเข้าคุก ส่วนพลทหารที่ถูกเกณฑ์มาได้รับการปล่อยตัว หลายคนได้เปลี่ยนสังกัดมาอยู่ด้วยกับฝ่ายรัฐบาล (ความจริงทหารของพระองค์เจ้าบวรเดชเองก็คือทหารของรัฐบาลนั่นแหละ เพียงแต่ถูกคำสั่งให้มาต่อต้านรัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่เอาผิดก็สามารถกลับคืนเข้ากรมกองเป็นทหารต่อไปได้) คือไม่ได้กลับโคราช แต่รับราชการอยู่ในหน่วยทหารต่าง ๆ ที่พระนครและในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
พ่อของจ่าขจรถูกย้ายให้ไปเป็นทหารอากาศ สังกัดกรมอากาศโยธิน ตอนนั้นสนามบินดอนเมืองกำลังจะพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ โดยมีพื้นที่ของทหารอากาศร่วมใช้งานอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง คือฐานทัพอากาศดอนเมือง ดังนั้นทหารที่อยู่ในฐานทัพอากาศดอนเมืองจึงต้องทำหน้าที่ “เฝ้าสนามบิน” ทั้งของทหารและกรมการบินพาณิชย์นั้นด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2479 ก็มีการสร้างอนุสาวรีย์หลักสี่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการปราบกบฏบวรเดช โดยสร้างเป็นรูปพานวางรัฐธรรมนูญ (ว่ากันว่าย่อส่วนมาจากที่สร้างบนถนนราชดำเนิน แต่เล็กกว่ามาก) ตรงปลายถนนแจ้งวัฒนะที่เชื่อมกับถนนรามอินทราและตัดกับถนนพหลโยธิน ที่ต่อมาเป็นวงเวียนหลักสี่ (ปัจจุบันตั้งแต่ที่ได้มีการสร้างสถานีรถไฟฟ้าสีเขียวและสีชมพูบนวงเวียนหลักสี่ อนุสาวรีย์นี้ก็ถูกย้ายไปเก็บไว้ โดยไม่มีใครยืนยันว่าจะได้กลับมาตั้งไว้ที่วงเวียนหลักสี่นี้อีกหรือไม่) พ่อของจ่าขจรก็ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานสร้างถนนบริเวณนี้ด้วย รวมถึงต่อมาในปี 2483 ก็มีการสร้างวัดขนาดใหญ่ขึ้นวัดหนึ่งในบริเวณนี้ นั่นก็คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (แต่เดิมทราบว่าคณะราษฎรจะให้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” แต่ได้ถูกคัดค้าน พอดีกับที่ประเทศไทยได้รับมอบกอพระศรีมหาโพธิ์จากลังกา จึงตั้งชื่อใหม่เป็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุดังกล่าว) พร้อมกันนั้นก็มีข่าวที่รู้กันเฉพาะพวกนายทหารในสมัยนั้นว่า รัฐบาลคณะราษฎรได้ปูนบำเหน็จให้รางวัลตอบแทนการปราบกบฏด้วยการแจกที่ดินในบริเวณนั้นแก่นายทหาร แต่ก็มีคนร่ำลือว่าได้มีการจัดแบ่งบางส่วนให้กับทหารในระดับรอง ๆ ลงมาด้วย แต่ปรากฏว่าไม่เป็นความจริง กระนั้นก็มีหลายคนยึดบริเวณที่เป็นสาธารณะ เช่น บริเวณพื้นที่ตาบอด และริมชายคลอง โดยพ่อของขจรก็ได้มาจับจองที่ดินริมชายคลองนั้นด้วย
พ่อของขจรครองความเป็นโสดจนอายุย่างเข้า 30 ปี ที่ถือว่าช้ามากสำหรับคนสมัยนั้น เวลานั้นรัฐบาลกำลังมีโครงการก่อสร้างมากมาย ทั้งอาคารสงเคราะห์แก่คนยากจน เช่น ที่ดินแดงและห้วยขวาง รวมถึงกำลังจะทำถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ที่เริ่มจากดินแดงคู่ขนานกับถนนพหลโยธิน มาถึงปลายสนามบินดอนเมืองนั้นด้วย (ถนนนี้เริ่มสร้างราว พ.ศ. 2492 สร้างเสร็จในปี 2509 แรก ๆ เรียกว่าถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นเกียรติแด่หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ที่สิ้นชีพิตักษัยระหว่างไปเยี่ยมหทารบาดเจ็บในพื้นที่สู้รบกับคอมมิวนิสต์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2520) โดยแม่ของขจรเป็นแม่ค้าที่มาขายขนมให้กับคนงานก่อสร้าง โดยพ่อของขจรก็เป็นแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาจากกองทัพอากาศให้มาร่วมสร้างถนนในครั้งนั้น ขจรมีพี่น้อง อีก 5 คน รวมตัวเขาเองเป็น 6 คน โดยเขาเป็นคนรองสุดท้อง
บริเวณทุ่งบางเขนนั้นกว้างใหญ่มาก แต่ก่อนเป็นทุ่งนาไปทั้งนั้น ทิศเหนือจรดคลองสายไหมที่เชื่อมต่อกับสนามบินดอนเมืองและกองทัพอากาศ ลงมาก็มีตลาดอยู่แห่งหนึ่ง เรียกว่าย่านสะพานใหม่ ส่วนตลาดนั้นเป็นของตระกูลธรรมวัฒนะ ทิศตะวันออกครอบคลุมตำบลท่าแร้งไปจนถึงตำบลลาดปลาเค้า ก็หาบ้านเรือนผู้คนได้ไม่มากนัก ลงไปทางใต้ เป็นพื้นที่ทหารบกที่เรียกว่ากองพลทหารราบที่ 11 ในปัจจุบัน คั่นด้วยคลองบางบัว เชื่อมต่อกับคลองถนน (ว่ากันว่าคือคลองที่เกิดจากการขุดดินขึ้นมาทำถนนพหลโยธิน) ตรงนี้เริ่มมีอาคารบ้านเรือนเพราะเป็นสถานที่ราชการ คือส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงไปจรดคลองบางเขนแถวเรือนจำกลางลาดยาว ไปชนกับทางรถไฟสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อ้อมขึ้นมาจึงถึงทุ่งสองห้อง หลักสี่ และดอนเมือง ย่านนี้มีบ้านเรือนกระจัดกระจายไปตามแนวทางรถไฟ แต่พอพ้นทางรถไฟทั้งสองด้านก็ผืนนา สลับกับที่ดอนเป็นป่าละเมาะอยู่ทั่วไป
ขจรเล่าถึงการพัฒนาพื้นที่และภูมิทัศน์ที่เขาเติบโตมาในตอนเด็ก ๆ ให้เห็นภาพมาอย่างละเอียดนี้ ก็ด้วยความภาคภูมิใจว่า เขาได้เกิดมาในสมัยที่บ้านเมืองกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ โดยบรรพบุรุษคือพ่อแม่ของเขาได้มีส่วนร่วมในความเจริญเติบโตนั้นมาอย่างเต็มกำลัง แม้จะในฐานะที่เป็นแรงงาน กรรมกร แม่ค้า หรือ “ชนชั้นล่าง” แต่ก็ได้สร้างสรรค์สิ่งที่คนสมัยนี้ได้รับประโยชน์ เป็นต้นว่า ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และวัดวาอารามต่าง ๆ
ผมไม่ทราบว่าขจรได้ไปซึมซับ “ความเป็นสังคมนิยม” มาจากใคร อย่างไร เมื่อใด แต่พอได้สนทนากันไปนาน ๆ ก็พอจะได้ทราบว่าเขาคงต้องมี “ศาสดา” หรือ “ไอดอล” เป็นแรงดลบันดาลใจอย่างแน่นอน เพราะลำพังที่เขาจะอ่านเอาจากหนังสือนั้นก็คงจะซึมซับเข้าสมองได้ยาก เพราะเขาไม่ได้เรียนสูงพอที่จะอ่านหรือค้นพบเอาคำพูดแปลก ๆ นั้นด้วยตนเอง ทั้งเวลาและงานที่เขาทำคือการเป็นทหารชั้นผู้น้อยนั้น ก็คงไม่ทำให้เขาอยู่ในฐานะที่จะพูดอะไร “เกินฐานะ” นั้นด้วย และยิ่งหลังเกษียณเขาก็ยังคงทำงานรับจ้าง เหมือนอย่างที่เขามารับจ้างต่อเติมซ่อมแซมบ้านให้ผม จนกระทั่งได้มีเวลาสนทนากับเขาอย่างละเอียดลึกซึ้งนี้ ก็ไม่น่าเชื่อว่ามันสมองของเขาจะเต็มไปด้วยปรัชญาต่าง ๆ ที่น่าสนใจขนาดนั้น
สำนวนจีนบอกว่า น้ำค้างบริสุทธิ์อาจจะหาดื่มได้จากยอดหญ้าที่อยู่เรี่ยดิน บางทีความคิดอันสูงส่งอาจจะมาจากผู้ต่ำต้อยเช่นขจรนี้ก็ได้