เมื่อวันที่ 3 ต.ค.67 ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล โพสต์กลอนความว่า ...
สายธารฟากฟ้า เทิดค่าวีรบุรุษ
๏ ธาราฟ้ารองเรื่องนามเมืองแมน
ไกลสุดแคว้นแผ่นดินถวิลหา
เปิดเส้นทางประจักษ์นัครา
สู่ปลายฟ้าพิภพสยบงัน
๏ ถิ่นอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดม
ได้อาบห่มประกายสายฟ้าสรร
เปิดโลกรู้ดินแดนแห่งแพรพรรณ
ราชวงศ์ “ฮั่น” เขตสุดที่จุดปลาย
๏ ภูเขาสูงทะเลทรายสายธารา
จะหวนหาทางทิศที่คิดหมาย
ณ แดนใดเกินคาดอาจท้าทาย
ฝันสลายสุขสมอุดมการณ์
๏ ครายกทัพจับศึกที่ฮึกเหิม
แรกประเดิมรวมใจอันไพศาล
ปรายตาฝันกมลดลบันดาล
สู่ฉางอานจริงแท้แม้สายลม
๏ ออกกีสานเสียทัพย่อยยับพ่าย
คนคาดหมายหวังไว้เหมือนใจล่ม
แต่ยังได้ศิษย์ใหม่ฝากใจชม
ผู้แหลมคมติดตามเป็นฐานเดิม
๏ คือดินแดนมาตุภูมิที่รักมั่น
“เกียงอุย” นั้นมั่นคงควรส่งเสริม
ผู้เหิมหาญปณิธานสานต่อเติม
ความหวังเริ่มเจิดจ้าศรัทธาชัย ๚
มหา สุรารินทร์
อาทิตย์ 15 กันยายน 2567 เวลา 16.43น.
เมืองโบราณเทียนสุ่ย เมืองเทียนสุ่ย มณฑลกานซู
เขตเมืองโบราณเทียนสุ่ย บ้านเกิดเกียงอุยลูกศิษย์ขงเบ้ง
ย่านถนนคนเดินในเขตเมืองเก่าฝั่งตรงข้ามศาลฝูซีเต็มไปด้วยร้านรวงต่างๆ อาหารของกินของที่ระลึกและประติมากรรมที่เกี่ยวข้องมีประติมากรรมสลักกองทัพจ๊กนำโดยขงเบ้ง, จูล่ง, อุ๋ยเอี๋ยน, ม้าเจ๊ก, อ่องเป๋ง, ม้าใต้และเหล่าทหารในการออกศึกกิสานครั้งแรก(ก่อนจะถอยทัพเพราะเสียเขาเกเต๋ง)ได้ยกพลมาถึงเมืองนี้ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 228 ในยุคสามก๊กของจีน กองทัพของรัฐจ๊กก๊กนำโดยอัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียงวางแผนจะเข้ายึดครองเตียงฮัน(ซีอาน) นครยุทธศาสตร์สำคัญในรัฐวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก สามเมืองอันได้แก่ลำอั๋น, เทียนซุย และฮันเต๋งถูกทัพจ๊กก๊กยึดครองไป แต่ดินแดนที่จ๊กก๊กได้ไปภายหลังกลับถูกวุยก๊กชิงกลับคืนไปได้หลังยุทธการที่เกเต๋ง ตามที่ระบุไว้ในชีวประวัติของขุนพลวุยก๊กเตียวคับว่า "เมืองลำอั๋น เทียนซุย และฮันเต๋งก่อกบฏและแปรพักตร์เข้าด้วย
เมืองนี้ยังเป็นบ้านเกิดของ"เกียงอุย" ทายาททางการทหารของมังกรซ่อนกายที่มีบทบาทสำคัญเป็นเสาหลักของจ๊กก๊กด้านกองทัพสืบต่อจากขงเบ้งจนวาระสุดท้ายของจ๊กก๊กจนสิ้นแผ่นดิน
เกียงอุยเป็นชาวเมืองเทียนซุย กำพร้าพ่อมีความกตัญญูต่อแม่เป็นอย่างมาก หลังขงเบ้งถึงแก่อสัญกรรมเขาก้าวขึ้นสืบทอดอำนาจต่อตามคำสั่งเสียของขงเบ้งและทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในสมัยที่เจียวอ้วนและบิฮุยเป็นผู้สำเร็จการ ในที่สุดก็ขึ้นมามียศทางทหารสูงสุดเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) หลังบิฮุยเสียชีวิตในปี ค.ศ. 253 ระหว่าง ค.ศ. 240 ถึง ค.ศ. 262
เมื่อหมดยุคเสาหลักสำคัญที่ขงเบ้งสั่งเสียไว้เกียงอุยยังคงสานต่อภารกิจของจูกัดเหลียงในการศึกกับวุยก๊ก โดยนำทัพบุกในการทัพอีก 11 ครั้ง แต่การทัพของเกียงอุยมีข้อจำกัดทั้งในแง่จำนวนทหารและระยะเวลาเนื่องจากทรัพยากรของจ๊กก๊กที่มีจำกัดและเสบียงอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาการเมืองภายใน ในปี ค.ศ. 263 เมื่อวุยก๊กเปิดฉากการบุกจ๊กก๊กครั้งใหญ่ เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กไปต้านข้าศึกที่ท่าจง อิมเป๋ง และเกียมโก๊ะ ตัวเกียงอุยป้องกันเกียมโก๊ะจากการโจมตีของจงโฮย ขณะที่เกียงอุยตั้งมั่นสกัดกองกำลังหลักของวุยก๊กที่นำโดยจงโฮย แม่ทัพของวุยก๊กอีกคนชื่อเตงงายก็ใช้ทางลัดผ่านอิมเป๋งบุกไปถึงเซงโต๋โดยฝ่ายจ๊กก๊กไม่คาดคิด เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนนต่อเตงงายโดยไม่ต่อต้านและมีรับสั่งให้เกียงอุยยอมจำนนต่อจงโฮย เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสิ้นสุดของจ๊กก๊ก
ในปีถัดมา เกียงอุยยุยงจงโฮยให้ก่อกบฏในเซงโต๋ต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการของวุยก๊ก และหวังจะใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มอำนาจทางการทหารและกอบกู้จ๊กก๊ก แต่นายทหารของจงโฮยบางส่วนไม่เต็มใจที่จะร่วมการก่อกบฏและเริ่มก่อการกำเริบสังหารเกียงอุยและจงโฮย เขาถูกทหารวุยล้อมไว้จึงตัดสินใจเชือดตัวตาย
นอกจากนี้ภายในเขตเมืองเก่าที่กลมกลืนกับสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ยังมีระเบียงภาพสลักหินพร้อมประวัติบุคคลสำคัญทั้งที่เป็นชาวเมืองนี้และบุคคลในประวัติศาสตร์จากอดีตจนถึงยุคสังคมนิยมนับเรียงมาตั้งแต่ฮ่องเต้, ขุนนาง, กวี, นักปราชญ์ไปจนถึงสามัญเป็นแผ่นๆทอดยาวให้ได้อ่านศึกษาและภาคภูมิใจอีกด้วย
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต