วันที่ 3 ต.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่านายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเผยแพร่ใน tiktok รายการหนึ่ง หัวข้อ ส.ส.อดิศร... ให้ thaipbs ถอดรายการของ กาแฟไม่ใส่น้ำตาล ซึ่งคนทั่วไปอาจจะฟังดูแล้วก็ผ่านไป แต่สำหรับตนเองกลับเห็นว่า การอภิปรายดังกล่าว อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น วันนี้ จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือตั้ง (กกต.) ตรวจสอบต่อไป ดังนี้
ข้อ 1. ประมาณวันที่ 26 กันยายน 2567 เวลาใดไม่ชัดเจน สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุม วาระเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (3) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งในช่วงเวลาใดไม่ชัดเจน ปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ต่อสาธารณะเข้าถึงได้โดยทั่วไปว่า นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายแสดงความเห็นตามวาระดังกล่าว ทำให้มีคลิปนำมาเผยแพร่ใน tiktok จำนวนมาก สำหรับรายละเอียดทั้งหมด กกต. สามารถขอเทปการอภิปรายดังกล่าวและบันทึกรายงานการประชุมแบบชวเลขจากสภาผู้แทนราษฎร มาตรวจสอบต่อไป
ข้อ 2. ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยทั่วไป เช่นรายการใน tiktok รายการหนึ่ง ที่ได้จากการแคปภาพ (ซึ่งแนบมาด้วย 35 ภาพ) อาจเป็นข้อเท็จจริงอันควรเชื่อว่า นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายแสดงความเห็นที่อาจเข้าข่ายทำให้สมาชิกภาพของนายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเหตุต้องสิ้นสุดลง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 184 (4) ตามมาได้
ข้อ 3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) มาตรา 184 (4) และมาตรา 35 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “มาตรา 101 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (7) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 184 หรือมาตรา 185”
“มาตรา 184 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง (4) ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซง การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ”
“มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”
ข้อ 4. ข้อเท็จจริงตามที่เผยแพร่ใน tiktok รายการหนึ่ง หัวข้อ ส.ส.อดิศร... ให้ thaipbs ถอดรายการของ กาแฟไม่ใส่น้ำตาล ซึ่งหาดูได้จากโทรศัพท์มือถือทั่วไป เมื่อทำการแคปภาพหน้าจอรายการดังกล่าว จะได้ภาพประกอบคำอภิปรายตามหลักฐานที่แนบมาด้วย ประมาณ 35 ภาพ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ กกต. สามารถนำไปตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงได้กับเทปการอภิปรายดังกล่าวและบันทึกรายงานการประชุมแบบชวเลขจากสภาผู้แทนราษฎร ตามวันเวลาดังกล่าว
ข้อ 5. เนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดขึ้นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการแสดงความคิดเห็นกล่าวถึงบุคคลที่สามที่หมายถึงพิธีกรรายการหนึ่งของ ไทยพีบีเอส หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งมีการนำมาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบุคคลดังกล่าวที่ถูกพาดพิงว่าเป็นพิธีกรของรายการกาแฟไม่ใส่น้ำตาลนั้น หมายถึงผู้ใด ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณี จึงอาจมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ดำเนินการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ต่อไป
นายเรืองไกร สรุปคำขอในท้ายหนังสือว่า จึงเรียนมาเพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบสมาชิกภาพของนายอดิศรมีเหตุต้องสิ้นสุดลง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 184 (4) หรือไม่