วันที่ 3 ต.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณี กทม.มีนโยบายเปลี่ยนจากการเช่ารถขยะระบบน้ำมันดีเซลเป็นระบบพลังงานไฟฟ้าว่า เรื่องดังกล่าวได้กำชับว่าต้องเน้นความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ ถือเป็นนโยบายหลักของ กทม.ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.แล้ว โดยหลักการคือ การเช่าต้องมีราคาถูกกว่าระบบน้ำมันเดิม ส่วนกระบวนการดำเนินงานมีอุปสรรคพอสมควร เพราะ กทม.เช่ารถขยะระบบน้ำมันมาเกือบ 20 ปี ลักษณะผูกขาดโดยผู้ให้เช่าเดิมเพียง 1-2 รายเท่านั้น ดังนั้น ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ง่าย

 

หากดูจากภาพรวม รถขยะระบบไฟฟ้ามีราคาเช่าถูกกว่าเดิมประมาณร้อยละ 20 เช่น ราคาเช่าต่อวันต่อคัน รถไฟฟ้าแบบยกภาชนะขนาด 3 ลบ.ม. ราคา 1,665 บาท ขณะที่รถดีเซล 2,542 บาท รถไฟฟ้าแบบยกภาชนะขนาด 8 ลบ.ม. ราคา 2,033 บาท รถดีเซล 2,542 บาท รถไฟฟ้าแบบอัด 2 ตัน ราคา 1,896 บาท รถดีเซล 2,371 บาท รถไฟฟ้าแบบอัด 5 ตัน ราคา 2,240 บาท รถดีเซล 2,800 บาท หากเช่าระยะ 9 เดือน จะใช้งบประมาณ 414,861,196 บาท จากราคารถดีเซลเดิม 542,150,280 บาท กทม.ประหยัดงบประมาณส่วนนี้ไป 127,289,084 บาท และหากเช่าระยะ 5 ปี จะใช้งบประมาณ 4,021,728,480 บาท ซึ่งน้อยลงจากการเช่ารถดีเซลเดิมจำนวน 6,539,521,362 บาท กทม.ประหยัดงบประมาณส่วนนี้ไป 2,517,792,882 บาท โดยส่วนต่างงบประมาณที่ประหยัดไป กทม.สามารถนำไปสนับสนุนการศึกษา สาธารณสุขและอื่น ๆ ได้

 

ขณะเดียวกัน ด้านสิ่งแวดล้อม รถขยะไฟฟ้าปล่อย PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน เป็น 0 ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว รถไฟฟ้าปล่อย 192 KgCo2 ส่วนรถดีเซลอยู่ที่ 2,256 KgCo2 โดยภาพรวมตรงนี้ยังไม่เห็นความเสียหายที่ กทม.จะเปลี่ยนไปใช้รถระบบไฟฟ้า

 

ส่วนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ความกังวลและความเคยชินที่ กทม.เคยใช้รถระบบน้ำมันมานาน ต้องค่อย ๆ แก้ไปที่ละเรื่อง ว่ากันตามหลักการและเหตุผลโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไม กทม.ถึงทำโครงการนี้ ในการเปลี่ยนไปใช้รถระบบไฟฟ้าเชื่อว่าทุกคนน่าจะเห็นด้วย เพราะรถน้ำมันมีเรื่องของมลภาวะ ยิ่งมีค่าใช้จ่ายถูกลงยิ่งดี เพราะปัจจุบัน กทม.เสียค่าใช้จ่ายกับเรื่องขยะจำนวนมาก เช่น ค่าฝังกลบ เป็นต้น โดยรวมแล้วมีค่าใช้จ่ายหลายพันล้าน การประหยัดช่วยให้นำเงินไปใช้ส่วนอื่นได้ จึงอยากให้ดูเป้าหมายรวมของโครงการคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดงบประมาณ

 

"เชื่อในท่านรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ เพราะได้มอบหมายให้ท่านดำเนินการ และท่านก็ทำด้วยความละเอียดรอบคอบ ส่วนรายละเอียดไม่ก้าวล่วง เพราะมีระเบียบดำเนินการกำกับอยู่แล้ว มั่นใจในท่านรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ว่าท่านทำเพื่อประโยชน์ประชาชน" นายชัชชาติ กล่าว

 

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานในช่วงที่รถขยะบางส่วนหมดสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้เตรียมแผนรองรับไว้ล่วงหน้าแล้ว เบื้องต้น กำหนดให้รถขยะที่ยังไม่หมดสัญญา วิ่งให้ครบ 200 กิโลเมตร/ต่อคัน/ต่อวัน ตามสัญญาจ้างที่กำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า รถแต่ละคันมีการใช้งานไม่ถึงร้อยละ 70 ดังนั้น หากรถทุกคันวิ่งครบตามข้อกำหนดสัญญาจ้างดังกล่าว จะทำให้มีรถขยะเพียงพอในการเก็บขยะครบทุกเขตตามเดิม ซึ่งแนวทางนี้จะใช้ทดแทนในระหว่างรถขยะเดิมหมดสัญญาแรก วันที่ 30 ก.ย.67 และภายในวันที่ 22 พ.ย.67 จะจัดหารถขยะไฟฟ้ามาใช้ทดแทนต่อไปตามเจตนารมณ์เดิมของ กทม.ที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้รถขยะระบบไฟฟ้า