เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมาธิการฯได้เดินทางไปศึกษาดูงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จังหวัดเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ พร้อมทั้งได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ จากนั้นได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย และศิษย์เก่า  ที่ประจำการอยู่ที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย  เพื่อมอบเงินและสิ่งของตามโครงการ “หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน” เสร็จแล้วจึงได้เดินทางไปยังบ้านเกาะลอย อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อพบปะกับนักศึกษาอุเทนถวายที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย ซึ่งตนในฐานะคนเชียงรายต้องขอขอบคุณ และชื่นชมจิตอาสาทุกคนที่ร่วมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือให้ประสานงานมาได้ตลอด 


  
นายเตชาติ์  มีชัย ประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่มที่จังหวัดเชียงรายเมื่อกลางเดือนกันยายน มีประชาชนเดือนร้อนจำนวนมาก ทำให้น้องนักศึกษาอุเทนถวายทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันกว่า 100 คน และกลุ่มเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าพื้นที่ไปให้การช่วยเหลือตั้งแต่แรกๆ จนถึงระยะฟื้นฟู ถือเป็นความร่วมมือเชิงบวกในการทำประโยชน์ให้กับสังคม แม้ว่าที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี สร้างความเดือดร้อน แต่ที่จริงทุกคนมีจิตใจ ใช้พลังกายพลังใจตอบแทนคืนสู่สังคมในยามที่ยากลำบาก ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงคอยสนับสนุนภารกิจของทั้งสองกลุ่มนี้ให้ลุล่วง และพยายามระดมทรัพยากรช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้  

นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า ช่วงมีข่าวน้ำท่วมหนักที่เชียงราย  รุ่นพี่รุ่นน้องอุเทนถวายก็ได้จัดทำโครงการอาสารวมน้ำใจคนไทย กู้วิกฤตภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย เบื้องต้นระดมเงินจากรุ่นพี่ หน่วยงานห้างร้าน องค์กรเครือข่ายเพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติและเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน เพื่อทำภารกิจ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกประจำการที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงรายชวยจัดการของบริจาคในโครงการ “หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน” และส่งมอบของใช้จำเป็นให้ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบหนัก  ช่วยเหลือตัวเองได้ยากลำบาก  เช่น ที่นอน หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส เป็นต้น ส่วนที่สองเข้าพื้นที่ไปการฟื้นฟู เช่น ตักโคลน ทำความสะอาดบ้าน  อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดีทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  

ด้านนายอนนทกรณ์ นาดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก ขณะเดียวกันเราก็ยังได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่เหมือนลูกเหมือนหลาน ทั้งนี้ตนขอเชิญชวนเพื่อนนักเรียน นักศึกษามาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบความทุกข์ยาก แม้ว่าจะเหนื่อย หนัก ได้พักผ่อนน้อย แต่ก็ทำให้เรามีความสุขที่ได้เป็นผู้ให้การช่วยเหลือ แบ่งปัน น้ำเสียงและแววตาที่แสดงความขอบคุณ และความเมตตาจากชาวบ้านจะถูกแปลงเป็นพลังใจที่เราได้กลับมา

ด้านนายเอ นามสมมุติ เยาวชนจากศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เยาวชนบ้านกาญจนาฯ ได้รับการสนับสนุน และเปิดโอกาสจากนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนา ให้เราคิดและตัดสินใจลงพื้นที่เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัตที่จ.เชียงราย ส่วนคนอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ก็ไปเป็นอาสาสมัครช่วยจัดการของบริจาคของมูลนิธิกระจกเงาที่กรุงเทพ ตามที่ได้รับแจ้งภารกิจมา ทั้งนี้การทำงานในพื้นที่ถือว่าค่อนข้างหนัก งานตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดทุกอย่าง ต้องใช้พลังกายพลังใจอย่างมากและต้องทำแข่งกับเวลา แต่สิ่งที่เราได้รับตอบแทนกลับมาและทำให้หายเหนื่อยเลยคือรอยยิ้ม คำขอบคุณและความเมตตาของลุง ป้า น้า อา ที่เราเข้าไปช่วยเหลือ ปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นลูกหลานจริงๆ หลายคนร้องไห้ บอกให้เราแวะไปเยี่ยมด้วย ทำให้ยิ่งรู้สึกได้เลยว่านี่คุณค่า  คือความหมายที่เราตามหามานาน และไม่เสียใจที่ตัดสินใจมาที่นี่แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม