ดัชนี SMESI สิงหาคม 2567 ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากกำลังซื้อชะลอตัว แนวโน้มหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งอุทกภัยในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าแม้มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับความเชื่อมั่นที่ 52.8 โดยคาดหวังกำลังซื้อจากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (ดัชนี SMESI) ประจำเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 49.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.9 และอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อ ส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการ และมีผลให้แนวโน้มหนี้สินเร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์เชิงลบในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ที่เผชิญกับอุทกภัยฉับพลัน กระทบกับการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ การขาดแคลนวัตถุดิบจากเส้นทางการจัดส่งส่งสินค้าตัดขาด และราคาต้นทุนเร่งตัวสูง เมื่อพิจารณาดัชนีองค์ประกอบ พบว่า องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการและด้านการลงทุนโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.1 และ 50.9 จากระดับ 52.0 และ 50.0 ของเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีองค์ประกอบด้านอื่น ๆ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) กำไร และการจ้างงาน ลดลงอยู่ที่ระดับ 52.5, 40.4, 50.9 และ 49.8 จากระดับ 53.6, 41.0, 52.5 และ 50.2 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (ดัชนี SMESI) รายสาขาธุรกิจ พบว่า ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 52.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.7 เป็นผลจากสาขาการผลิตอาหาร การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และการผลิตยาง มีการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ที่เร่งตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์การขาดแคลนสินค้า ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่วน ภาคการค้า ยังชะลอตัวลงต่อเนื่องโดยปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 49.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.3 และอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นเป็นเดือนแรก โดยเฉพาะสาขาการขายสินค้าอุปโภคบริโภค และการค้าเกี่ยวกับยานยนต์ ในขณะที่การค้าเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างได้อานิสงส์ในกลุ่มสินค้าป้องกันอุทกภัย เป็นหลัก ภาคการบริการ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.3 ซึ่งปรับตัวลดลงในทุกสาขา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญการชะลอตัวของกำลังซื้อในหลายพื้นที่ ตัวอย่างเช่น กลุ่มห้องเช่ารายเดือนที่เริ่มมีผู้ย้ายออกก่อนสิ้นสุดสัญญา รวมถึงการเลื่อนการชำระค่าเช่า เช่นเดียวกับกลุ่มบริการสปาและนันทนาการที่ชะลอลงตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค ภาคธุรกิจการเกษตร ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 52.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.9 เป็นการชะลอตัวจากผลของความเสียหายที่เกิดจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ รวมถึงอุปสรรคด้านโลจิสติกส์

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (ดัชนี SMESI) รายภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.7 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.8 แม้มีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มผลิตยางและพลาสติก จะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการจากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย แต่ภาคธุรกิจอื่นยังคงชะลอตัวจากผลของการหดตัวของกำลังซื้อในพื้นที่

กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 49.3 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.5 ภาพรวมธุรกิจทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงพยุงเศรษฐกิจไว้ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนที่มีนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามา ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตในหลายสาขา เช่น สินค้าของฝากและที่ระลึกราคาสูงอย่าง อัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อภายในพื้นที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง

ภาคใต้ อยู่ที่ 51.1 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4 ภาคเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบในพื้นที่สำคัญอย่างนครศรีธรรมราชและภูเก็ต ซึ่งเผชิญกับฝนตกหนักและดินถล่ม การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของสินค้าหลายประเภทที่พึ่งพาจากภูมิภาคอื่นหยุดชะงัก ทำให้ราคาสินค้าในพื้นที่เร่งตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบชั่วคราวต่อการผลิต การจำหน่าย และการให้บริการ

ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 49.6 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.9 ภาคธุรกิจชะลอตัวในกลุ่มบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง เนื่องจากการชะลอการลงทุนและขยายกิจการในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จังหวัดชลบุรี ยังได้ประโยชน์จากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย แม้จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนักก็ตาม

ภาคกลาง อยู่ที่ 47.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.9 ระดับความเชื่อมั่นยังคงต่ำกว่าค่าฐานอย่างชัดเจน ผลจากการขาดกำลังซื้อในพื้นที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบลากยาวแม้กระทั่งต่อกลุ่มการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่พึ่งพากำลังซื้อในพื้นที่เป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าจำเป็นสำหรับใช้ในช่วงอุทกภัยปรับตัวดีขึ้น

ภาคเหนือ อยู่ที่ 50.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.8 ผลจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคธุรกิจการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงภาคภาคค้าและบริการ ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 52.8 ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.7 เนื่องจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง และความไม่ชัดเจนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ส่งผลต่อการลดลงของยอดคำสั่งซื้อในอนาคตค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆที่มีอิทธิพลต่อระดับความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของ SME ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดอย่างเร่งด่วน เช่น การเร่งดำเนินการโครงการ Digital Wallet หรือมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในรูปแบบอื่นๆ การควบคุมต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง และมาตรการผ่อนปรนข้อกำหนดหรือกฎระเบียบในการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เพราะต้องการนำเงินทุนไปใช้ในการฟื้นฟูกิจการ โดย สสว. มีมาตรการเร่งด่วนให้ความช่วยเหลือ SME กลุ่มนี้ด้วยเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Made in Thailand by สสว. การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของ SMEs และการอบรมและพัฒนาทักษะ Digital ไว้รองรับ

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมด้านการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ในระยะยาว การส่งเสริมการส่งออกสินค้า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งกันให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ซึ่ง สสว.มีโครงการและองค์ความรู้ต่างๆที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เช่น โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ในการบริการให้คำปรึกษาหากต้องการนำสินค้าไปเปิดตลาดหรือร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://bds.sme.go.th/ หรือค้นหาองค์ความรู้เพิ่มเติมด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ได้ที่ https://www.smeone.info หรือการสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่ได้การรับรองในกลุ่มธุรกิจต่างๆที่ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SME ได้ที่ https://coach.sme.go.th/ ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือ SME ที่ประสบอุทกภัยได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ สสว. Call Center โทร. 1301

#กำลังซื้อหด #หนี้สินพุ่ง #ข่าววันนี้ #ความเชื่อมั่น #ดิจิทัลวอลเล็ต #สินเชื่อ