“อธิบดีกรมสุขภาพจิต” เผย “สมศักดิ์” สั่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ต่อเนื่อง หลัง “นายกฯ แพทองธาร” ห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจครอบครัว พร้อมเน้นสื่อสารเข้าใจง่าย ชี้ ไม่เพียงเยียวยาญาติ แต่รวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวด้วย ส่วนเยียวยาน้ำท่วม จิตแพทย์ ตรวจแล้ว 40,268 ราย พบเครียด1,501 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 36 ราย กำชับ เฝ้าระวังใกล้ชิด
เมื่อวานนี้ (2 ต.ค.67)นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการในที่ประชุมให้กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมาก พร้อมได้ฝากชื่นชมทีม MCATT ที่ได้นำทั้ง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตลงพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ทันที รวมถึงส่งทีมไปยังจังหวัดอุทัยธานี เพื่อดูแลสุขภาพจิตครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย โดยนายสมศักดิ์ ยังได้แนะนำให้กรมสุขภาพจิต สื่อสารการดูแลสภาพจิตใจอย่างง่ายๆ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าใจและปฎิบัติตามได้ เพราะการเยียวยาไม่ใช่เพียงแต่ครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวสาร แล้วเกิดอาการเศร้าอย่างรุนแรงด้วย
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า รมว.สาธารณสุข ยังได้เน้นย้ำให้ทีม MCATT ของกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาดูแลจิตใจผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ที่เห็นถึงความสำคัญในการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนหลังน้ำลดด้วย โดยกรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการส่งจิตแพทย์ ทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาฟื้นฟูจิตใจประชาชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แบ่งแผนการดำเนินการเป็น 3 ส่วน ตามระยะของผลกระทบ คือ 1.พื้นที่น้ำลดแล้ว มีการประเมินสุขภาพจิตโดยทีม MCATT จำนวน 40,268 ราย พบความเสี่ยงต่อภาวะเครียด จำนวน 1,501 ราย เสี่ยงซึมเศร้า จำนวน 215 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 36 ราย และให้การปฐมพยาบาลทางใจ ครบ 100% รวมถึงมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง ในระยะหลังได้รับผลกระทบ 2 สัปดาห์ – 3 เดือน จนกว่าจะไม่พบความเสี่ยง
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า 2.พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย มีการติดตามเฝ้าระวังเคสที่มีการสูญเสียไปแล้ว 400 ราย ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจำนวน 13 ราย ซึ่งทั้งหมดมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิต ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต ในพื้นที่อำเภอแม่สาย รวมถึงยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างพลังใจจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติด้วย และ 3.สำหรับพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์ ได้จัดทีม MCATT นำโดยจิตแพทย์ เข้าไปร่วมดูแลทั้งโรงพยาบาลสวนปรุง ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และโรงพยาบาลธัญญาลักษณ์เชียงใหม่ เข้าประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเยียวยาจิตใจต่อไป