วันที่ 2 ต.ค.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สี่ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ยื่นญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดจัดหารถเก็บขนมูลฝอยทดแทนในส่วนที่จะครบกำหนดสัญญาในปี 2567 โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีขยะวันละประมาณ 9,000 ตัน เดือนละประมาณ 270,000 ตัน หรือปีละกว่า 3 ล้านตัน กทม.มีโครงการเช่ารถขยะ 7 โครงการ กำลังจะหมดสัญญาปี 2567 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย แบบยกภาชนะ ขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน สิ้นสุดสัญญาแรก 30 ก.ย.67 2.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย แบบอัด ขนาด 2 ตัน จำนวน 152 คัน แบ่งเป็น 66 คัน สิ้นสุดสัญญา 22 พ.ย.67 และ 84 คัน สิ้นสุดสัญญา 22 ธ.ค.67 3.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย แบบยก ภาชนะ ขนาด 8 ลบ.ม. จำนวน 124 คัน แบ่งเป็น 58 คัน สิ้นสุดสัญญา 19 ธ.ค.67 และ 66 คัน สิ้นสุดสัญญา 27 ธ.ค.67  และ 4.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย แบบอัด 5 ตัน จำนวน 464 คัน แบ่งเป็น 92 คัน สิ้นสุดสัญญา 22 ธ.ค.67 และ 372 คัน สิ้นสุดสัญญาปี 2568 

 

ปัจจุบัน รถขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน สิ้นสุดสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 ทำให้ กทม.ขาดรถเก็บขยะขนาดดังกล่าวไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเก็บขยะ เช่น บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งใช้ถังขยะขนาด 3 ลบ.ม. เพื่อให้รถวิ่งเก็บ อย่างไรก็ตาม หากรถขนาดอื่น ๆ หมดสัญญาลงในเดือน ธ.ค.นี้ กทม.ยังหารถทดแทนไม่ได้ อาจสร้างความเสียหายเกิดขึ้น ตนจำได้ว่าเมื่อปี 2566 สภา กทม.เห็นชอบงบประมาณกว่า 3.8 พันล้านบาท เพื่อเช่ารถขยะ 4 โครงการ แต่ปัจจุบันปี 2567 กทม.ยังจัดหาไม่ได้

 

โดย กทม.ไม่นิ่งนอนใจ จึงมีโครงการเช่ารถไฟฟ้าเก็บขนมูลฝอยจำนวน 4 โครงการมาทดแทน จำนวน 470 คัน วงเงิน 241 ล้าน ประกอบด้วย 1.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าแบบยกภาชนะ ขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน (45,854,100 บาท) 2.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า แบบยกภาชนะ ขนาด 8 ลบ.ม. จำนวน 124 คัน (68,064,840 บาท) 3.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า แบบอัด ขนาด 2 ตัน จำนวน 152 คัน (77,811,840 บาท) 4.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า แบบอัด 5 ตัน จำนวน 92 คัน (55,641,600 บาท) และอีก 372 คัน (224,985,600 บาท) โดยใช้งบปี 2568 

 

ภายใต้ข้อกังวลจากสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะในการพิจารณางบประมาณเมื่อปี 2566 เช่น ระยะทางการวิ่งของรถ ความพร้อมของบุคลากร ความจุแบตเตอรี่และภาระงานหนัก ปัญหาจากสภาพภูมิอากาศ ปัญหาด้านการซ่อมบำรุง สถานีชาร์จไฟ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน และความพร้อมของผู้ให้บริการในประเทศไทย เป็นต้น

 

นายประพฤทธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าไปแล้ว โดยมีบริษัทเดียวเป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 4 โครงการ และหลังจากประกาศ 1 วัน มีคณะกรรมการร่างข้อกำหนดสัญญาเช่ารถ (TOR) 1 คน ลาออกทันที จนถึงปัจจุบัน การจัดซื้อจัดจ้างยังไม่แล้วเสร็จ จึงอยากสอบถามแนวทางดำเนินการจากผู้บริหาร กทม. รวมถึงปัญหาการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเช่ารถขยะของ กทม.เริ่มตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2563 มีบริษัท A ได้สัญญาถึง 22 สัญญา วงเงินรวม 18,834,080,625 บาท บริษัท B ได้ 4 สัญญา วงเงินรวม 1,738,432,050 บาท บริษัท C ได้ 2 สัญญา วงเงินรวม 1,402,465,428 บาท รวมทั้งหมด 28 สัญญา วงเงินรวม 21,974,978,103 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าทั้ง 3 บริษัทเป็นคู่เทียบกันหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาของรถขยะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 พร้อมกับฝ่ายบริหารกทม.และ ส.ก.ชุดใหม่เข้ามา แต่งบประมาณที่ตั้งมาจากฝ่ายบริหาร กทม.ชุดเก่า โดยตัวโครงการไม่ได้เขียนระบุเชื้อเพลิงและพลังงาน ซึ่งยึดหลักดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 จนมาถึงปี 2566

 

ตนเป็นรองผู้ว่าฯกทม.มีความสนใจในการเปลี่ยนไปใช้รถขยะพลังงานไฟฟ้า จึงเริ่มสืบราคาและศึกษาข้อมูล พบว่า ราคาถูกกว่า ขณะที่รถขยะดีเซลมีอายุการใช้งานถึง 7 ปี แต่มีราคาเช่าเท่าเดิม ซึ่งหากเช่ารถระบบไฟฟ้า 270 วัน จะใช้งบประมาณน้อยกว่าถึง 127,289,084 บาท หากเช่าระยะ 5 ปีก็จะประหยัดงบประมาณเพิ่มเติม นอกจากเรื่องการใช้งบประมาณน้อยลงแล้ว ผลการศึกษาเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ารถระบบไฟฟ้าดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ดังนั้น รถที่กำลังจะหมดสัญญาช่วงปี 2567-2568 หาก กทม.จะเปลี่ยนไปใช้รถระบบไฟฟ้าก็สามารถทำได้ เพราะโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2545 ไม่ได้ระบุว่าต้องใช้เชื้อเพลิงอะไร แต่เมื่อเริ่มดำเนินการ ปรากฏว่ามีผู้ไปร้อง ป.ป.ช. ด้วยเหตุผลว่า หาก กทม.จะเปลี่ยนไปใช้รถระบบไฟฟ้า ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. ทำให้ต้องยกเลิกโครงการปี 66 และ 67 ไป แล้วตั้งโครงการใหม่นำเสนอเข้าสภากทม. ในปีงบประมาณ 68 สุดท้ายสภากทม.เสนอว่าให้เป็นรถระบบไฟฟ้า เท่ากับเสียเวลาไป 2 ปี

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ตามข้อบัญญัติปี 2563 วิธีการงบประมาณ ใจความว่า เรื่องใดก็ตาม ถ้าไม่กระทบวัตถุประสงค์ ฝ่ายบริหารสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากกระทบวัตถุประสงค์ต้องเสนอให้สภากทม.อนุมัติ

 

"มีหลายเรื่องที่ทำให้ฝ่ายบริหารต้องคิดว่าอะไรที่เราทำได้หรือไม่ได้ ทั้งที่ข้อบัญญัติเขียนไว้ ขออนุญาตนะครับ (ยกตัวอย่าง) คณะอนุกรรมการและคณะวิสามัญแก้ไขชื่อโครงการผม ทำให้ผมไม่สามารถทำโครงการได้ ถามว่าใช้อำนาจอะไรแก้ชื่อโครงการผม โครงการเขียนว่าเพื่อนำขยะไปกำจัดโดยวิธีสุขลักษณะ ขณะเดียวกัน ภายใต้โครงการนั้นบอกว่า ฝังกลบหรือคัดแยกก็ได้ ท่านไปเปลี่ยนชื่อโครงการผมเขียนว่าฝังกลบ อีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อปี 67 รถดูดกวาด เราจะเช่าโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย และเราบอกว่าแต่ละโซนจำนวนรถไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่ปรากฏว่ามีอนุกรรมการท่านหนึ่งไปแก้ให้มีรถจำนวนเท่ากันทุกโซน ในเมื่อจำนวนพื้นที่ไม่เท่ากัน แก้ทำไมครับ แก้เพื่อให้ใช้งบประมาณมากขึ้น สิ้นเปลืองมากขึ้นใช่ไหม ให้ประชากรกรุงเทพฯ เสียภาษีมากขึ้นใช่ไหม สุดท้ายโครงการใช้ไม่ได้ ต้องมาขอยกเลิก แล้วนำเสนอโครงการใหม่ ล่าสุดปี 68 สภากทม.ไม่ให้งบรถดูดกวาด ความผิดใคร ความผิดผม ผมรับได้ครับ นี่คือตัวอย่างจากหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้น ที่กำลังจะบอกว่าปัญหาเช่ารถขยะวันที่ 30 ก.ย.ไม่ได้เพราะใคร ผมเองครับ"

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ได้รถขยะไฟฟ้าในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่ควรจะพูดในสภา กทม. แต่ขณะเดียวกัน ทราบว่าเอกสารที่ส่งมาไม่ตรงกับ TOR จึงไม่สามารถลงนามสัญญาได้ แต่ตนรู้ว่าเบื้องหลังจริง ๆ คือใคร โดยตนได้เตรียมแผนดำเนินการทดแทนรถต่าง ๆ ล่วงหน้าไว้ทั้งหมดแล้ว รวมถึงมีแนวคิดจ้างเอกชนเก็บขนขยะแทนด้วย เนื่องจากคาดว่าวันนี้อาจจะเกิดขึ้น เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างแสดงถึงความไม่ปกติเกิดขึ้น เกี่ยวกับการที่ฝ่ายบริหาร กทม.พยายามเปลี่ยนไปใช้รถขยะระบบไฟฟ้า แผนต่าง ๆ ที่เตรียมไว้จึงไม่ได้ทำ เพราะมีการร้องเรียน มีการโทรศัพท์มากดดันว่า ถ้าลงนามระวังติดคุก

 

"ถ้าผมยังอยู่ก็ต้องพยายามเอารถขยะมาวิ่งให้ได้ ผมบอกทุกครั้งว่า ถ้าผมทำไม่ได้ ให้คนที่เก่งกว่าผมมาทำ หากเราไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ ตามที่ท่านผู้ว่าฯกทม.มอบหมาย หรือได้รับหน้าที่ต้องทำ เราก็ไม่ควรอยู่ที่จะทำ ให้คนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่ามาทำแทนเรา อย่าดื้ออยู่ครับ กลับไปนอนอยู่บ้านก็ได้ ขอบคุณครับ" นายจักกพันธุ์ กล่าว