วันที่ 2 ต.ค. 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ได้ประชุมหารือกรณีอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ และนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และเจ้าหน้าที่ ขบ.ที่เกี่ยวข้อง กรณีเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 12.08 น. โดยรถที่เกิดเหตุ เป็ยรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) หมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) บรรทุกเด็กนักเรียนและครูจำนวน 45 ราย เดินทางออกจากจังหวัดอุทัยธานี เมื่อถึงจุดเกิดเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต รถคันดังกล่าวได้เกิดเสียหลักไปเฉี่ยวชนกับรถเก๋ง และไถลเบียดกับแบริเออร์ที่อยู่กลางเกาะถนนวิภาวดี จากนั้นจึงเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเสียหายทั้งคัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 3 ราย โดยรถโดยสารคันที่เกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียวมาตรฐาน 1 (ข) ปรับอากาศ ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก ได้ยกเลิกการประกอบการของผู้ประกอบการเจ้าของรถคันที่เกิดเหตุแล้ว ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการมีรถทั้งหมด 2 คัน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้กำชับผู้เกี่ยวข้องว่าต้องไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก ซึ่งในระยะเร่งด่วน ให้ขบ.เร่งดำเนินการได้แก่ 1.เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ที่มีทั้งหมดปัจจุบันจำนวน 13,426 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทางจำนวน 2,935 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) จำนวน1,0491 คัน เข้ารับการตรวจสภาพรถซ้ำ ให้เรียบร้อยภายใน 60 วัน โดยกลุ่มแรกให้เร่งตรวจรถไม่ประจำทางจำนวน 2,935 คัน ก่อน ,2. เพิ่มเติมเงื่อนไขในใบอนุญาต ให้มีพนักงานประจำรถโดยสารประจำทาง ( 30) เช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง โดยพนักงานและผู้ประจำรถต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management) ซึ่งขบ.คาดว่าดำเนินการได้ภายใน 1 เดือน ,3. สำหรับกรณีนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ไปใช้บริการ ให้ ขบ. บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ,4.ออกกฎหมายระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการ (เช่นเดียวกับสายการบิน) ก่อนออกรถเดินทางทุกครั้ง โดยใช้การสาธิตการปฎิบัติเพื่อเอาตัวรอกเมื่อเกิดเหตุ ในรูปแบบวีดีโอหรือเจ้าหน้าที่แนะนำ เหมือนรถโดยสารประจำทาง และ 5. ศึกษาทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ที่กำหนดเกี่ยวกับ มาตรฐานรถ และอายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง ( 30) ทั้งระบบเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การตรวจสภาพถังบรรจุก๊าซ CNG จะมีการระบุถึงวันผลิตและสิ้นสุดอายุจากโรงงาน โดยกำหนดตรวจสภาพรถปี ละ 2 ครั้ง ทั้งตัวรถและสภาพถังก๊าซโดยใช้เครื่องมืดตรวจอุปกรณ์ ข้อต่อต่างๆ ซึ่งถังบรรจุก๊าซ CNG จะมีอายุใช้งานประมาณ 15 ปี ส่วนตัวรถไม่มีการกำหนดอายุใช้งาน ขึ้นกับการตรวจสภาพ หากพบมีความชำรุด ผู้ประกอบการต้องนำไปซ่อมแซมและนำมาตรวจสภาพอีกครั้ง หากผ่านการตรวจสภาพรถจึงจะได้รับการต่อภาษีและใช้งานได้ต่อไป ส่วนรถแต่ละคันจะมีจำนวนถังเท่าไร จะมีการคำนวณจากการรับน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุก เช่น รถหนัก 45 ตัน ขนาด 40 ที่นั่ง จะมี 5-6 ถัง
นายจิรุตม์ กล่าวว่า เนื่องจากรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานเลขตัวถังรถ (คัสซี) เหมือนรถโดยสารประจำทาง ที่มีแนวทางปฎิบัติตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง 3/2568 ระบุว่า รถโดยสารไม่ประจำทาง 30 ระยะทางไม่เกิน 300 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของคัสซีรถไม่เกิน 40 ปี, รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300-500 กม. จะกำหนดอายุคลัทซี ไม่เกิน 35 ปี, รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางเกิน 500 กม. จะกำหนดอายุคัสซี ไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถหมวด 1 ที่วิ่งในเมืองอายุคัสซีไม่เกิน 50 ปี