วันก่อนมีข่าวว่าผู้ถูกหมายเรียกใน “คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” กรณีปลาหมอคางดำ เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ หลังจากก่อนหน้านี้ผู้เสียหายเคยแถลงเตือนว่ากำลังพิจารณาจะดำเนินคดี เพราะพบการใช้ภาพเท็จและข้อมูลเท็จในเวทีสาธารณะ จึงอยากแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนี้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และระมัดระวังการกระทำของเราๆท่านๆ ที่อาจส่งผลให้ต้องเดินขึ้นโรงขึ้นศาลได้ง่ายๆ
ตัวอย่างชัดๆ ของคดีหมิ่นประมาทที่ศาลเพิ่งตัดสินไปเมื่อเร็วๆนี้ เป็นคดีที่มีดาราสาวชื่อดัง ตั๊ก บงกช เป็นโจทก์ โดยศาลอาญามีนบุรีมีคำตัดสินให้ ตั๊ก เป็นฝ่ายชนะคดีฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่ถูกคอมเมนต์ ใช้คำหมิ่นประมาท ด้วยเรื่องการแต่งงานใช้ชีวิตคู่ การพูด หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นการใส่ร้าย ใส่ความ และไม่เป็นความจริง ที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทนั้นเกิดความเสียหายและถูกเข้าใจผิดได้ โดยจำเลยได้รับสารภาพหมดทุกกรณี ศาลจึงมีคำตัดสินให้จำเลยที่ 1 ต้องทำการโพสต์กล่าวข้อความขอโทษมีกำหนดระยะเวลา 30 วัน และศาลจะพิพากษาส่วนอาญาต่อไป ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มาตามนัดศาลได้อนุมัติออกหมายจับเป็นลำดับต่อไป ซึ่งดาราสาวได้กล่าวว่า “การยื่นฟ้องเหล่าเกรียนคีย์บอร์ดครั้งนี้ ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ตระหนักรู้ในสิ่งไหนที่ควรทำหรือสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ และเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไม่ไปใช้ถ้อยคำใส่ร้ายป้ายสีหรือละเมิดสิทธิของคนอื่นต่อไปในอนาคต”
กฎหมายหมิ่นประมาทนี้ กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในสังคม โดยการพูดเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น การกระทำผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ในการโจมตีหรือทำลาย ภาพลักษณ์ของบุคคล หรือกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมาย หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นการโกหกหรือปกปิดความจริง เพื่อเกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นๆ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม
นิยามของคำว่า “หมิ่นประมาท” ก็คือการที่บุคคลที่หนึ่ง พูดถึงบุคคลที่สอง ให้บุคคลที่สามฟัง ด้วยเนื้อหาที่ทำให้บุคคลที่สองเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม โดยกฎหมายมาตรา 326 ระบุไว้ว่า : ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วน “การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” จะต้องดูที่เจตนาและวิธีการประกอบกันว่าตั้งใจให้เผยแพร่ในวงกว้างหรือไม่ โดยตัวบทกฎหมาย มาตรา 328 ระบุว่า : ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ซึ่งอธิบายได้ว่า ในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ถ้าผู้กระทำ มีเจตนาจะส่งข้อมูลให้บุคคลจำนวนมาก ด้วยวิธีการต่างๆที่ทำให้บุคคลอื่นสามารถพบเห็นข้อความได้ในวงกว้าง เช่น โพสต์เฟซบุ๊ก แปะป้ายประกาศด้วยเอกสาร จัดเสวนาสาธารณะ หรือเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย การทำภาพยนตร์เผยแพร่ใน YouTube การกระจายเสียงโฆษณาทางวิทยุ พอดแคสต์ การโพสต์ในสื่อออนไลน์ต่างๆ จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ที่ทำให้มีโทษหนักขึ้น
กรณีปลาหมอคางดำที่มีการฟ้องร้องคดี “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” กับบุคคลที่ใช้ภาพเท็จ-ข้อมูลเท็จ (นามสมมุติ : นาย ว.) อันนำไปสู่การเสื่อมเสียชื่อเสียงและสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย (นามสมมุติ : บริษัท จ.) ลองมาพิจารณาดูว่ากรณีนี้สมเหตุสมผลที่จะดำเนินคดีมาตรานี้หรือไม่
องค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องมีความผิดครบ 3 องค์จึงจะถือว่ามีความผิดจริง ได้แก่ 1. ผู้กระทำผิดต้องมีการสื่อสารไปยังบุคคลที่สาม กรณีนี้ นาย ว. จัดเวทีเสวนาสาธารณะ และ Live สดผ่านทางเฟซบุ๊ค ย่อมมีเจตนาสื่อสารไปยังบุคคลจำนวนมากจึงเข้าข่ายความผิดทันที และครอบคลุมไปถึงมาตรา 328 คือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วย 2.ข้อมูลที่สื่อสารเป็นการใส่ความผู้เสียหาย โดยใช้ภาพที่อ้างว่าเป็นฟาร์มของผู้เสียหายที่ดำเนินการเลี้ยงปลาหมอคางดำ ซึ่งบริษัท จ. จำได้ว่าฟาร์มดังกล่าวไม่ใช่ฟาร์มที่ถูกกล่าวถึง และไม่มีกิจกรรมเลี้ยงปลาดังที่นาย ว. กล่าวหา จึงเข้าข่ายใส่ความ ตามองค์ความผิดที่สอง 3. การใส่ความดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง แน่นอนว่าเมื่อ นาย ว. ใช้วิธีเสนอภาพเท็จและข้อมูลเท็จดังกล่าว ก็เป็นเหตุให้ บริษัท จ. ถูกเข้าใจผิด เสียชื่อเสียงและนำไปสู่ความเกลียดชัง จึงเข้าองค์ประกอบครบถ้วนตามฐานความผิดนี้
กล่าวโดยสรุปคือ กรณีนี้มีความผิดครบองค์ ผู้เสียหายจึงสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ส่วนผู้กระทำผิดถ้าพิสูจน์ได้ว่า ฟาร์มในภาพนั้นคือฟาร์มที่ตนระบุจริงๆ ก็อาจจะรอดพ้นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ (ซึ่งน่าจะค่อนข้างยากเพราะบ้านใครฟาร์มใคร เขาก็จำของเขาได้ทั้งนั้น) จึงนับเป็นอีกคดีหนึ่งที่น่าติดตามและน่าจะช่วยสร้างการตระหนักรู้ของประชาชนให้ระมัดระวังในการแชร์ การโพสต์ ที่อาจจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย ซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงของตัวบทกฎหมายที่ต้องการลดความวุ่นวายในสังคม
โดย : ทนง สิงห์สุรสีห์