เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ต.ค. 67 ที่กรมชลประทานปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุริยพล นุชอนงค์ รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ และนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ร่วมต้อนรับด้วย
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.แพทองธาร นางนฤมล นายชัชชาติ และคณะทำงานนายกฯ ได้สวมชุดสีดำเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่เหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. โดยรักษาการอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมระบุช่วงหนึ่งว่า การันตีปีนี้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ
นายกฯ กล่าวว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นห่วงกันเยอะว่าปีนี้จะท่วมหรือไม่ท่วม เวลาปล่อยน้ำได้มีการแจ้งชาวบ้านอยู่แล้วใช่หรือไม่ ซึ่งต้องแจ้งเตือนไว้ก่อน และตรงนี้ต้องฝากกระทรวงมหาดไทยในเรื่องอำนวยความสะดวกสบายพี่น้องประชาชน เรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ห่วงในพื้นที่กรุงเทพฯ และในปีนี้ถ้าเทียบกับปี 2554 อยากให้เกิดความสบายใจ ซึ่งปี 2554 มีพายุเข้ามา 5 ลูกแต่วันนี้มีมาลูกเดียว และในปี 2554 เหลือพื้นที่เก็บน้ำเหลือ 1,000 กว่า แต่ตอนนี้เหลือ 6,000 กว่า ห่างจากปี 2554 เยอะมาก ปีนี้ปริมาณน้ำฝนปีนี้เยอะกว่าปกติ 2% แต่ในปี 2554 เยอะกว่าปกติประมาณ 25%
ดังนั้นคนกรุงเทพฯที่กำลังกลุ้มใจน้ำจะท่วม ก็ไม่ต้องน่าเป็นห่วง ฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่ ที่ช่วยกันดูแลด้วย หากมีโครงการอะไรที่จะทำให้แก้ไขปัญหาระยะยาวได้ ก็ขอให้พิจารณาและเสนอมา และให้ดูในเรื่องพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรด้วยว่าได้รับผลกระทบแค่ไหนจะได้พิจารณาเรื่องการเยียวยาต่อไป
ภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำ น.ส.แพทองธาร ทวิตข้อความ ว่า “ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี การระบายน้ำ กรมชลประทาน 1.) มอบอธิบดีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือกระทบน้อยที่สุด
1.1) ให้กรมชลประทานบริหารจัดการเขื่อนเจ้าพระยาและผันน้ำเข้าฝั่งซ้าย (คลองชัยนาท – ป่าสัก) และฝั่งขวา (ปตร.พลเทพ และปตร.บรมธาตุ) ของเขื่อนเจ้าพระยา ให้มีความเหมาะสม และพิจารณาอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเลมาประกอบการระบายน้ำให้สอดคล้องด้วย
1.2)ประชาสัมพันธ์กับประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้บริเวณจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อรีบยกของต่างๆ ได้ทันต่อไป
2.) มอบกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดูแลให้การช่วยเหลือในลำดับแรกด้วย
3.) มอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และอธิบดีกรมชลประทาน
3.1) เฝ้าระวังจุดฟันหลอ และเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
3.2) ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับน้ำหากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3.3) ตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำให้มีความพร้อมใช้งาน
3.4) เร่งกำจัดขยะ และผักตบชวา ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่
4.) ตามที่ได้มีการมอบหมายการบริหารจัดการที่เขื่อนเจ้าพระยาและการผันน้ำออกด้านซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้กระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และเฝ้าระวังบริเวณ อ.บางไทร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยประมาณ 53% ของลำน้ำ และการเตรียมการพร่องน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อรองรับสถานการณ์ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังแบบปี 2554 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้นายกฯ ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน