วันที่ 2 ต.ค.2567 เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและลดอุบัติภัยอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงกรณีโศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษานักเรียนจาก จ.อุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุเพลิงลุกไหม้ ว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและชาว จ.อุทัยธานี ในฐานะสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ มีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกฎระเบียบ กฎหมาย และมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถน มีราว 20,000 คนต่อปี แต่ประเทศที่เจริญแล้ว สูญเสียเพียง 2,000 คนต่อปี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีเป้าหมายลดอุบัติเหตุลดจำนวนการสูญเสียให้น้อยลงทุกๆ ปีให้ได้
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า รถสาธารณะเช่นแท็กซี่ รถตู้ รถบัส ต้องดูแลอย่างรอบคอบส่วนรถแท็กซี่มีอายุการใช้งาน 7 ปี ผ่อนผันได้ถึง 10 ปี แต่รถบัสข้อกำหนดว่า ต้องไม่ใช่รถอายุ 50 ปีนำมาดัดแปลงประกอบใหม่ ดังนั้น คณะกรรมการจะเชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่รับจดแจ้งขึ้นทะเบียนรถที่นำมาดัดแปลง กระทรวงคมนาคมต้องสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้ได้มาตรฐานมากกว่านี้ ซึ่งมาตรฐานสูงสุด คือเด็กและเยาวชนเวลาทัศนศึกษา ขั้นต่ำของมาตรฐาน ต้องมีรถนำขบวนหรือไม่ ขับขี่ใช้ความเร็วเท่าไหร่ ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ออกกฏหมาย ต้องมีความเข้มงวด และนําโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องปรับปรุงมาตรฐานบนท้องถนน และอายุการใช้งาน
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ การดับเพลิงให้ทันท่วงทีขณะเกิดอุบัติเหตุท้องถนน รถติดอุปกรณ์ดับเพลิงไม่มีมาตรฐาน เพราะฉะนั้น ต้องเน้นในเรื่องของโดรนดับเพลิง ไม่ว่าในอาคารสูงหรืออุบัติเหตุบนท้องถนน ที่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุได้ทันท่วงที
ส่วนการตรวจสอบสภาพของรถที่จะใช้ทัศนศึกษา หากต้องการทัศนศึกษาในจังหวัดอื่น ต้องเช็ครถให้ได้มาตรฐานและต้องมีขบวนการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด เช่นมีรถนำขบวน เพราะเกิดการสูญเสียแล้วไม่คุ้มค่า หากมีลูกมีหลาน จะเสียใจอย่างซึ้ง นอกจากนี้ ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ คณะกรรมการระดับชาติ จะเชิญหน่วยงานไปประชุมเรื่องดังกล่าว ที่สภาผู้แทนราษฎร เวลา 9.00 น.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีกระแสสังคมเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดทัศนศึกษา นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ยกเลิกไม่ได้ เพราะเป็นกระบวนการเสริมสร้างความรู้ และประสบการณ์ ไม่ว่านักเรียนหรือชุมชน จำเป็นต้องเดินทาง
เมื่อถามว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายครั้ง การแอ็คชั่นแบบนี้จะเป็นการวัวหายล้อมคอกหรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า วัวหายล้อมคอกก็ยังดี เหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีโอกาสที่จะดำเนินการเรื่องกฎหมาย การรีบทำก็เป็นเรื่องดี แต่การป้องกันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการหรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่กระทรวง ที่จะต้องบังคับกัน กฎหมายหย่อนยานตรวจสอบไม่เข้มงวด ทำให้เกิดความสูญเสีย หัวใจสำคัญคือ กฎหมายที่บังคับใช้กับผู้ประกอบการ ดังนั้น ต้องเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุยในเรื่องนี้ก่อน