โฆษก ศปช.เตือน 6 อำเภอ ริมแม่น้ำกก จ.เชียงราย เตรียมรับมือฝนตกหนัก ช่วง 2-9 ต.ค.นี้ เตรียมยกของขึ้นที่สูง ส่วนการเคลียร์พื้นที่มีการปรับแผนการจัดการขยะ ตั้งเป้า ต้องจบเดือนนี้
วันที่ 2 ต.ค.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผย ว่าจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่รายงานว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค.67 ประกอบกับการติดตามปริมาณฝนของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พบว่าปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงบางจุดของ จ.เชียงราย สูงถึง 195 มิลลิเมตร รวมทั้งจะมีบางส่วนตกในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำกก ที่ไหลผ่าน จ.เชียงใหม่ และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
นายจิรายุ กล่าวว่า จากปริมาณฝนดังกล่าว ทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้คาดการณ์พื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำกกเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวลำน้ำรวม 147.14 ตร.กม. ในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ได้แก่
อ.เมืองเชียงราย (ต.เวียง ต.แม่ข้าวต้ม ต.แม่ยาว ต.ดอยฮาง ต.ท่าสาย ต.นางแล ต.บ้านดู ต.รอบเวียง ต.ริมกก ต.สันทราย)
อ.เวียงชัย (ต.เวียงเหนือ ต.เวียงชัย)
อ.เวียงเชียงรุ้ง (ต.ดงมหาวัน ต.ทุ่งก่อ)
อ.แม่จัน (ต.ท่าข้าวเปลือก)
อ.ดอยหลวง (ต.โชคชัย ต.ปงน้อย ต.หนองป่าก่อ)
อ.เชียงแสน (ต.เวียง ต.โยนก ต.บ้านแซว)
ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่บางส่วน ยังอยู่ระหว่างฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งก่อน บางจุดการระบายน้ำยังสามารถทำได้จำกัด อาจทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่ 2 – 9 ต.ค.67 โดยคาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงกว่าตลิ่ง 1.18 เมตร ในวันที่ 4 ต.ค.นี้
“ขณะนี้ ศปช. ได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบความมั่นคงของคันกั้นน้ำบริเวณจุดเสี่ยง รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำกกให้ยกของขึ้นที่สูง เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ ศปช.ส่วนหน้า ติดตามการแก้ปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งเริ่มส่งกลิ่นรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้พบว่า ในพื้นที่ อ.เชียงราย สามารถเพิ่มอัตราการขนขยะจากเดิมอยู่ที่ 1,000 ตัน/วัน เพิ่มเป็น 1,300 ตัน/วัน ส่วนในพื้นที่ อ.แม่สาย ปัจจุบันจัดการขนขยะยังทำได้จำกัดเนื่องจากถูกกลบทับด้วยโคลน จึงมีอัตราการขนขยะอยู่ที่ 100 ตัน/วัน ซึ่งคาดว่าหากเพิ่มอัตราการขนขยะได้เป็น 150 ตัน/วัน จะทำให้ทั้ง 2 พื้นที่ สามารถดำเนินการขนขยะได้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ต.ค.67
“ตอนนี้ในพื้นที่ประสานขอรับการสนับสนุนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเทศบาลนครเชียงราย ต้องการรถพ่วง 20 ตัน จำนวน 10 คัน ส่วนเทศบาลตำบลแม่สายต้องการรถแบ็คโฮ 4 คัน และรถตักตีนตะขาบอีก 4 คัน หากทาง ปภ.ประสานได้มาตามจำนวนนี้ เราจะสามารถเคลียร์พื้นที่จบได้ตามเป้า สิ้นเดือนตุลาคม ชาวเชียงรายจะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ” นายจิรายุ กล่าว