ลำพูน ผู้ว่าฯ 2จังหวัด ลงพื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมขังเขตรอยต่อ จ.เชียงใหม่-จ.ลำพูน เน่าเหม็นชาวบ้านเดือดร้อนหนักต้องสูบระบายลงคลองสาขา

    เวลา 21.30 น.ของคืนวันที่ 1 ตุลาคม 2567  ที่ผ่านมา นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายยุทธพงศ์ ไชยศร นายอำเภอเมืองลำพูน, นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดลำพูน, นายกิติพัฒน์ ธนินภิตินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์, นายนิเวศร์ ปานดวง ปลัดเทศบาลตำบลอุโมงค์ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันลงพื้นที่บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมขังในเขตพื้นที่รอยต่อของทั้ง 2 จังหวัด หลังมีฝนตกหนัก และแม่น้ำปิงได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ไหลมาท่วมต่อยังพื้นที่จังหวัดลำพูน ผ่านทางอำเภอสารภี มายังตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

        โดยก่อนหน้านี้ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่อำเภอสารภี ของจังหวัดเชียงใหม่ ให้น้ำสามารถระบายได้เร็วจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว จากการระบายลงตามน้ำปิงห่าง ลำเหมืองเก้าศอก ไหลลงมาสู่ต.หนองช้างคืน ต.อุโมงค์ อ.เมืองลำพูน ซึ่งจะไหลต่อลงไปใน ต.เหมืองง่า ต.ในเมือง ต.ต้นธง จนไปสมทบกับลำน้ำกวงและน้ำปิงที่อ.ป่าซาง แต่น้ำที่ไหลมานั้นเกิดจากการท่วมขังมาหลายวันจึงทำให้น้ำที่ไหลมานั้นเน่าเหม็นคละคลุ้ง ชาวบ้านที่ถุกน้ำท่วมและอยู่ใกล้ปิงห่าง และลำเหมืองต่างๆได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นทั้งวันทั้งคืนมาได้ 3 วันแล้ว  จึงได้มาช่วยระบายน้ำในส่วนต่อเนื่องในจังหวัดลำพูน ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมากไปกว่านี้

   

    ทั้งนี้  ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 24 นิ้ว จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีอัตราการสูบน้ำได้ถึง 1.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถระบายน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มาทำการติดตั้งที่บริเวณหน้าวัดกอม่วง ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน แล้วผันน้ำมาลงที่บริเวณลำเหมืองปิงห่าง หมู่ 7 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งในจุดนี้ก็จะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 6 นิ้ว อีก 3 เครื่อง เผื่อผันน้ำต่อผ่านไปยังพื้นที่ ต.เหมืองง่า และส่งต่อไปลงสู่แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง เพื่อที่จะระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด